รีเซต

“จุรินทร์” สนุน PCA ไทย-ยุโรป เพื่อประโยชน์ประเทศและคนไทยระยะยาว

“จุรินทร์” สนุน PCA ไทย-ยุโรป เพื่อประโยชน์ประเทศและคนไทยระยะยาว
TNN ช่อง16
29 สิงหาคม 2567 ( 12:41 )
10
“จุรินทร์” สนุน PCA ไทย-ยุโรป เพื่อประโยชน์ประเทศและคนไทยระยะยาว

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปรายในสภาถึงกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง  ว่าวันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสประชุมร่วมกับวุฒิสภาชุดใหม่เป็นครั้งแรก สิ่งหนึ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนเบื้องต้นสำหรับวาระการประชุมในวันนี้ คือตนเห็นชอบ กับกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรือที่เรียกย่อๆว่า PCAไทย-อียูฉบับนี้  เหตุผลที่ตนเห็นชอบ เพราะว่าวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ตนอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น และได้ให้ความเห็นชอบกับกรอบความตกลงที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ซึ่งนำไปสู่การลงนามในที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565  อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ในเวลาต่อมา โดยท่าน ดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในขณะนั้น เป็นผู้แทนไทยไปลงนามที่บรัสเซลส์


ความจริงร่างกรอบความตกลงฉบับนี้ ภาษาไทยเขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นความร่วมมือรอบด้าน คำว่า “รอบด้าน”หมายความว่า เกือบจะเรียกว่าทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กรอบความร่วมมือเป็นเสมือนทิศทาง หรือแผนแม่บท การที่จะมีข้อตกลงเพิ่มเติมเข้ามาจะเป็นข้อตกลงเฉพาะรายละเอียดที่จะตามมาจากPCAฉบับนี้ในอนาคตต่อไป


ปัจจุบันนี้ตนติดตามโดยใกล้ชิด ก็พบว่าPCAฉบับนี้มีความคืบหน้าว่า เฉพาะในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้มีการลงนามไปแล้ว 5 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้มีการให้สัตยาบันกับประเทศไทยแล้ว 12 ประเทศ จาก 27 ประเทศ


ตนเห็นว่า PCA ฉบับนี้ ในภาพรวมจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยทั่วประเทศในระยะยาว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ประการที่1. PCA ฉบับนี้ เป็นเสมือนการยิงปืนด้วยกระสุนนัดเดียวแต่ได้นก 27 ตัว เพราะสหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ นั่นก็คือเราทำสัญญาฉบับเดียวแต่ได้ยกระดับความร่วมมือ และความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ถึง 27 ประเทศ นี่คือประโยชน์ที่ได้รับแบบเห็นชัดเจน


ประการที่2.  PCA ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอันที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างดุลยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเวทีโลก เพราะขณะนี้เป็นที่ทราบดีว่าโลกกำลังถูกแบ่งขั้ว แบ่งค่าย ทางการเมือง โดยมหาอำนาจและไม่ได้แบ่งขั้วแบ่งค่ายเฉพาะการเมืองแต่เอาเศรษฐกิจมามัดรวมกับการเมืองด้วยกลายเป็นแบ่งขั้วแบ่งค่ายทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะฉะนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดท่าทีรักษาดุลยภาพในการเดินหน้าเศรษฐกิจการเมืองในเวทีโลกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศของเรา ที่ผ่านมาเราถึงเดินทางได้อย่างถูกต้อง ตนขอเรียนว่าตนได้มีส่วนคนหนึ่งเช่นเราได้ขับเคลื่อน RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ของ 10 ชาติอาเซียน และ 5 ชาติใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก จนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีสมาชิก 15 ประเทศ มีจีนเป็นพี่ใหญ่  นี่เป็นกลไกเครื่องมือทางเศรษฐกิจการเมืองของจีนที่เป็นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ได้เป็นสมาชิกแค่ RCEP แต่เรายังเป็นผู้สนับสนุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพใหญ่ เป็นการสร้างความสมดุลหรือดุลยภาพให้กับประเทศไทย ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้เป็นสมาชิกเอเปค ที่ในอนาคตมีเป้าหมายในการที่จะพัฒนาไปเป็นเอพีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเอเปค มีทั้งไทย สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มียุโรป มีญี่ปุ่น มีอาเซียนของเราเข้าไปด้วย เป็นต้น   เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตนขอเรียนคือพีซีเอฉบับนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการที่จะสร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ของไทยในเวทีโลก และคงความมีดุลยภาพทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทยต่อไปอย่างเป็นทางการถ้ามีผลบังคับใช้


 ประการที่ 3.PCAฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปบรรลุผลโดยราบรื่นรวดเร็วขึ้น  ที่ตนกล้าพูดเช่นนี้ เพราะว่าตนมีส่วนสำคัญในการเริ่มต้นรอบใหม่ในการทำให้ FTAไทย-สหภาพยุโรปเดินหน้าไปได้ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ชะงักมาเกือบจะ 10 ปี และไม่สามารถนับหนึ่งได้ จนกระทั่งตนได้เดินทางไปที่สหภาพยุโรปในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองนายกรัฐมนตรี ไปพบกับท่านรองประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ ตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจของยุโรป  และได้นำมาซึ่งความสำเร็จในการตกลงกันว่าจะเริ่มเจรจา “FTAไทย-อียู” ครั้งหนึ่งหลังจากที่ค้างคากันมานานนับ 10 ปี   วันที่ 15 มีนาคม 2566 จึงเป็นที่มาของการลงนามประกาศแถลงการณ์พร้อมกันว่าถัดจากนี้ไปเราจะนับหนึ่ง FTAไทย-ยุโรป 


“ขณะนี้ผมได้ติดตามคือว่าไทยได้เจรจาไปแล้วสามรอบ ซึ่งขอถือโอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลัก และเพื่อนข้าราชการจากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันทำให้เกิดความคืบหน้าในเรื่องนี้” อดีต รมวพาณิชย์ และ อดีตรองนายกฯ กล่าว


แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย ที่จะตามมาจากการเจรจา เพราะเขาต้องรักษาผลประโยชน์ของเขา เราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของเรา ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด แต่นี่คือการที่เราจะต้องใช้ศักยภาพและความสามารถของเรา ถ้าเราให้ความเห็นชอบ PCA วันนี้  PCAฉบับนี้ จะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้การเจรจา FTAไทย-สหภาพยุโรป  สำเร็จราบรื่นได้มากขึ้นในอนาคต  ที่สำคัญจะทำให้ FTA ที่เรามีกับประเทศต่างๆ ที่เราชอบเปรียบเทียบกับเวียดนาม เราจะไล่หลังเวียดนามใกล้ขึ้น ขณะนี้เวียดนามมี FTA มากกว่าไทย เพราะขณะนี้เรามีแค่ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมี 16 ฉบับแต่กับ 54 ประเทศ แต่ถ้า FTAไทย-ยุโรป ประสบผลสำเร็จ เราจะเพิ่มจาก 15 ฉบับเป็น 16 ฉบับ เท่าเวียดนามและจำนวนประเทศจะเพิ่มจาก 19 ประเทศ +27 ประเทศทันที กลายเป็น 46 ประเทศ ไล่หลังเวียดนามที่มี 54 ประเทศ อีกไม่ไกล ตรงนี้เป็นประโยชน์ที่สำคัญที่เราจะได้รับ  


นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนFTA ไทย -อาฟต้า ระหว่างไทยกับ 4 ประเทศ ไอซ์แลนด์  นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ที่ตนนำคณะไปเจราจาในยุคนั้น และกับดูไบ หรือ UAE ถ้าสำเร็จเราก็จะสามารถสร้างแต้มต่อในการค้าขายการลงทุนและด้านการบริการให้กับไทยได้มากขึ้น กล่าวโดยสรุปก็ คือ FTAไทย-อียู จะสำเร็จราบรื่นได้ PCA ที่กำลังพิจารณาอยู่วันนี้จะมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยขับเคลื่อน


สุดท้าย ขอฝากรัฐบาลชุดต่อๆไป ที่จะบังคับใช้ PCAฉบับนี้ ให้คำนึงถึงสิ่งที่เราได้ถามกันในสภาเมื่อสักครู่ ซึ่งสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในการบังคับใช้ภาคปฏิบัติ นั่นคือPCA ฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าประเทศไทยในฐานะคู่สัญญาจะต้องไม่มีการละเมิดกรอบความตกลงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งหรือที่เรียกว่า  Essential Elements   ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ 4 ข้อในภาพรวม คือ เมื่อ PCA บังคับใช้ ประการที่1.ประเทศไทยต้องไม่มีการละเมิดการเคารพหลักการประชาธิปไตย  ประการที่ 2. สิทธิมนุษยชน  ประการที่3. เสรีภาพขั้นพื้นฐาน  ประการที่ 4.คือ การไม่เผยแพร่อาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งประเทศไทยยังห่างไกลในเรื่องนี้

แต่หลักการสำคัญ3ประการแรกคือสิ่งที่ตนคิดว่ารัฐบาลชุดต่อๆไปต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้น สหภาพยุโรปอาจจะระงับการบังคับใช้ความตกลงFTAไทย-สหภาพยุโรปที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต อาจจะทั้งหมดหรือบางส่วนได้ จึงขอฝากรัฐบาลไว้ ในภาพรวมตนขอสนับสนุนPCA ไทย-ยุโรป เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยในระยะยา


ที่มาข่าว:พรรคประชาธิปัตย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง