รีเซต

เกาเข่า : ขบวนการใช้เส้นโกงสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนดับอนาคตลูกชาวนาได้อย่างไร

เกาเข่า : ขบวนการใช้เส้นโกงสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนดับอนาคตลูกชาวนาได้อย่างไร
บีบีซี ไทย
11 กรกฎาคม 2563 ( 10:36 )
99
1

Getty Images
นักเรียนจีนราว 10 ล้านคนลงสนามสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า "เกาเข่า" ซึ่งจะชี้ชะตาอนาคตของพวกเขา

 

ในสัปดาห์นี้ นักเรียนจีนราว 10 ล้านคนทั่วประเทศต้องลงสนามสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า "เกาเข่า" ซึ่งจะชี้ชะตาอนาคตของพวกเขา

ในขณะที่เด็กนักเรียนเหล่านี้กำลังเครียดและเป็นกังวลกับการทำข้อสอบ แต่เรื่องราวที่เพิ่งมีการเปิดเผยล่าสุดพบว่านักเรียนรุ่นก่อนหน้าพวกเขาจำนวนหลายร้อยคนได้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการขโมยข้อมูลส่วนตัวและทำให้พวกเขาถูกขโมยผลการสอบไป

 

BBC

สำหรับ เฉิน ชุนชิว การสอบเกาเข่าอาจช่วยพลิกชีวิตของเธอ การทำผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดีหมายความว่าลูกสาวชาวนาอย่างเธอจะมีโอกาสได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่เธอใฝ่ฝัน และความล้มเหลวก็หมายความว่านี่จะเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น และเธอก็พบกับความล้มเหลว

 

หลังจากไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน เฉินก็ทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นสาวโรงงานไปจนถึงสาวเสิร์ฟ ก่อนที่ในที่สุดจะได้ทำงานเป็นครูโรงเรียนอนุบาล

 

แต่ 16 ปีให้หลัง เฉินต้องช็อกเมื่อพบว่าที่จริงแล้วเธอสอบติดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชานตง และมีชื่อลงทะเบียนเรียนที่นั่น

แต่คนที่เข้าเรียนกลับไม่ใช่ตัวเธอ อันที่จริงทั้งคะแนนสอบและข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเธอถูกผู้หญิงคนหนึ่งขโมยไปสวมรอย โดยใช้เส้นสายของครอบครัว

 

สื่อจีนรายงานว่า เฉิน เป็นหนึ่งในนักเรียน 242 คนในมณฑลชานตง ที่ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปสวมรอยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยระหว่างปี 2002-2009

 

การโกงอย่างเป็นระบบ

การสอบเกาเข่าที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดนี้ เป็นการวัดความรู้ในวิชาภาษาจีน คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาเลือกอื่น ๆ

 

มันเป็นการสอบที่สำคัญในระบบการศึกษาจีนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 แต่ระงับไประยะหนึ่งในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในปี 1966 ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

เกาเข่า ไม่ใช่แค่การสอบวัดความสามารถทางด้านวิชาการ แต่สำหรับชาวจีนหลายล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม นี่คือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในชีวิตและโอกาสในการขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น

 

Getty Images
ความล้มเหลวในการสอบเกาเข่านำความผิดหวังมาสู่ครอบครัวชาวจีน

สำหรับครอบครัวของเฉิน ซึ่งเรื่องราวของพวกเขาได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางในจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็ตั้งความหวังไว้สูงกับการสอบเกาเข่าของลูกสาว

 

การที่พวกเขามีฐานะยากจนและสามารถส่งลูกเรียนได้เพียงคนเดียว พวกเขาจึงตัดสินใจให้พี่ชายที่เรียนอ่อนกว่าของเฉินออกจากโรงเรียน เพื่อที่จะส่งเธอเรียน นี่ถือเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาในสังคมชนบทของจีนที่มักให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกชายมากกว่าลูกสาว

 

ด้วยความหวังนี้เอง เฉินจึงเข้าสอบเกาเข่าในปี 2004 ซึ่งตอนนั้นเด็กนักเรียนที่รอฟังผลสอบจะไม่ได้รับจดหมายปฏิเสธจากมหาวิทยาลัย แต่เป็นที่ทราบกับว่า ถ้าคุณไม่ได้จดหมายแจ้งเรื่องการรับเข้าเรียน ก็เดาได้ว่าคุณสอบไม่ติด

 

หลังจากรอไปจนถึงเดือน ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเริ่มการสอนภาคการศึกษาใหม่ เฉินก็ทำใจยอมรับว่าเธอคงจะไม่ได้รับจดหมายรับเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันแล้ว และตัดสินใจหางานทำในเมือง

 

แต่ในเดือน พ.ค.ปีนี้ เฉินได้ตัดสินใจสมัครเรียนในหลักสูตรสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อเธอกรอกข้อมูลส่วนตัวในเว็บไซต์ของรัฐบาล เฉินก็พบข้อมูลว่าเธอได้รับคัดเลือกและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2004 และสำเร็จการศึกษาในปี 2007

 

แต่ภาพถ่ายที่ปรากฏในเว็บไซต์กลับไม่ใช่รูปเธอ ความจริงที่ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นได้เผยให้เห็นขบวนการโกงเข้ามหาวิทยาลัยอันน่าตกใจที่เกิดขึ้น

 

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ลุงของผู้สวมรอยเป็นเฉิน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่น ถูกกล่าวหาว่าได้รับความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลการสอบของเฉินได้

 

ในการสอบครั้งนั้น เฉินทำคะแนนได้ 546 คะแนน จากคะแนนเต็ม 750 คะแนน ในขณะที่คนสวมรอยเป็นเธอได้เพียง 303 คะแนน

 

พ่อของผู้สวมรอยถูกกล่าวหาว่าไปดักสกัดจดหมายแจ้งเรื่องการรับเฉินเข้าเรียนในที่ทำการไปรษณีย์ก่อนที่จดหมายจะถูกส่งออกไป นอกจากนี้พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมของเฉินในการปลอมแปลงใบทรานสคริปต์ขึ้นมาใหม่ โดยใส่รายละเอียดของผู้สวมรอยเข้าไป

 

จากนั้นญาติของผู้สวมรอยได้ร่วมมือกับนายตำรวจระดับสูงและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชานตง เพื่อให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และทำให้ผู้สวมรอยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ

 

จากนั้น หญิงคนดังกล่าวซึ่งมีชื่อจริงว่า เฉิน ยานปิง ก็สวมรอยเฉินเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

สื่อจีนรายงานว่า จนถึงบัดนี้ เพื่อนร่วมงานของหญิงผู้นี้ยังรู้จักเธอในนามของ เฉิน ชุนชิว โดยหลังมีการเปิดโปงเรื่องนี้ เธอได้ถูกเพิกถอนปริญญา และถูกไล่ออกจากงาน รายงานของทางการจีนระบุว่าเธอกำลังถูกสอบสวน

 

"ฉันอยากถามเธอต่อหน้าว่าเธอขโมยข้อมูลฉันทำไม" เฉิน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน "คุณสวมรอยฉัน คุณคิดบ้างไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉัน คุณเห็นแก่ตัวขนาดนั้นเลยหรือ"

 

เรื่องราวของเฉินสร้างความรู้สึกไม่พอใจเป็นวงกว้าง หลายคนตั้งคำถามถึงการทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างหนักหลายปีสำหรับการสอบที่เมื่อดูผิวเผินเป็นการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

 

คนหนึ่งแสดงความเห็นทางเว่ยป๋อ โซเชียลมีเดียของจีนว่า "(บางคน) ไม่รู้หรอกว่าการสอบเกาเข่าสำคัญแค่ไหนสำหรับครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อส่งลูกเรียน...แต่หนทางของพวกเขากลับถูกปิดกั้นจากกลุ่มคนที่มีอำนาจ"

 

Getty Images
ผู้ปกครองมารอบุตรหลานที่ด้านหน้าสนามสอบเกาเข่า

"ชาวนาจะทำอะไรได้"

นายชู จ้าวฮุย นักวิจัยจากสถาบันศึกษาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า การโกงสอบเกาเข่า มักแบ่งออกเป็นสองประเภท คือแบบที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่รู้เรื่อง กับอีกแบบที่ทั้งสองฝ่ายสมยอมกันโดยอาจมีการจ่ายค่าตอบแทนให้

 

นายชูบอกว่า การโกงประเภทแรกมักทำกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่โรงเรียน สถาบันที่จัดการสอบ และเจ้าหน้าที่รับสมัครเข้าเรียน เป็นต้น

ในกรณีนี้ ผู้ตกเป็นเหยื่อมักเป็นผู้มี "สถานะทางสังคมต่ำ" และไม่มีปัญญาจะต่อสู้ แม้ว่าพวกเขาจะได้ทราบความจริง แบบเดียวกับพ่อของเฉิน

"ชาวนาจะทำอะไรได้ล่ะครับ" พ่อของเฉินถามผู้สื่อข่าว "ถ้าผมมีอำนาจพวกเขาคงไม่กล้า (ทำกับลูกแบบนี้)"

 

Getty Images
ปัญหาการโกงสอบที่เกิดขึ้นได้ถูกนำขึ้นหารือในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อเดือนที่แล้ว

ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อเดือนที่แล้ว มีการเรียกร้องให้กำหนดการขโมยข้อมูลเพื่อสวมรอยเข้ามหาวิทยาลัยเป็นความผิดอาญา โดยผู้แทนคนหนึ่งกล่าวว่ามัน "อันตรายยิ่งกว่าการขโมยเงินทองมาก"

 

เจ้าหน้าที่ในมณฑลชานตง ระบุว่า ขณะนี้มีการใช้กระบวนการใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการทุจริตเช่นนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้ การที่เอกสารเกี่ยวกับนักเรียนในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในระบบออนไลน์ก็ทำให้ปลอมแปลงได้ยากขึ้น

 

ด้านกระทรวงศึกษาธิการของจีน ประกาศว่า นักเรียนคนใดที่เกี่ยวข้องกับการขโมยข้อมูลและสวมรอยจะถูกห้ามเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

ส่วนทางการท้องถิ่นได้เปิดการสอบสวนกรณีของเฉิน ชุนชิว และได้สั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไป 46 ราย

 

ขณะที่เฉินพยายามกอบกู้สิ่งที่เธอควรได้รับในชีวิต และได้ยื่นคำร้องขอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชานตงอีกครั้ง โดยหลังจากได้ปฏิเสธคำร้องของเธอไปในครั้งแรกจนต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากสังคม ในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนท่าทีและว่า "จะเร่งดำเนินการ" เพื่อช่วยให้ "เฉินได้ทำความฝันของเธอให้เป็นจริง"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง