รีเซต

ฝีดาษลิง ติดต่อได้ยังไง? เช็กที่นี่ "ฝีดาษลิง" ติดต่อจากการนั่งส้วมในห้องน้ำได้ไหม

ฝีดาษลิง ติดต่อได้ยังไง? เช็กที่นี่ "ฝีดาษลิง" ติดต่อจากการนั่งส้วมในห้องน้ำได้ไหม
Ingonn
3 สิงหาคม 2565 ( 08:33 )
149

"โรคฝีดาษลิง" หรือ Monkeypox ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย มีรายงานผู้สัมผัส 42 ราย หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) กระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่าโรคฝีดาษลิง ไม่ได้ติดต่อง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

 

โดยก่อนหน้านี้มีการแชร์ในโลกออนไลน์ว่า "โรคฝีดาษลิง" ติดต่อ ได้ผ่านทางการนั่งส้วมในห้องน้ำ วันนี้ TrueID จึงจะมาเช็กว่า ฝีดาษลิง ติดต่อได้ยังไง? ติดต่อจากการนั่งส้วมในห้องน้ำได้ไหม

 

ฝีดาษลิง คืออะไร

ฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เป็นโรคสัตว์สู่คน ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มักมีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก ส่วนสัตว์รังโรค ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์กัดแทะและลิง ส่วนระยะฟักตัว ตั้งแต่วันที่สัมผัสถึงวันเริ่มป่วยอยู่ที่ 5-21 วัน ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ

  • สายพันธุ์ West African clade ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 
  • สายพันธุ์ Central African clade ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10

 

ฝีดาษลิง ติดต่อทางไหน

  • การติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก

  • การติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) ของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า

  • โรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์

 

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ฝีดาษลิง ในประเทศไทย ยังสามารถควบคุมได้ ไม่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว เหมือนอย่างโรค โควิด-19 เนื่องจากโควิดมีอัตราการแพร่เชื้อ จาก 1 คน ไปยัง 5 คน แต่ฝีดาษลิง 1 คน มีอัตราการแพร่เชื้อ ไปยังอีกคนเกิดขึ้นได้ยากเพราะการติดเชื้อจะเกิดได้จากการสัมผัสตุ่มหนอง ของผู้ติดเชื้อหรือ จากการเสียดสีเป็นเวลานาน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์   

 

"ฝีดาษลิง" ติดต่อจากการนั่งส้วมในห้องน้ำได้ไหม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการแพร่เชื้อของไวรัสฝีดาษลิงระหว่างคนสู่คน ผิวหนังปกติของคน เป็นปราการด่านแรกและด่านสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อจากบรรดาจุลชีพรวมทั้งไวรัสฝีดาษลิงจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ 

 

สังเกตจากการปลูกฝีในอดีตที่ใช้เชื้อไวรัสฝีดาษม้า “ vaccinia virus” มาปลูกฝี ต้องใช้วัตถุมีคม เช่น มีดปลายแหลม หรือ เข็ม มากรีด หรือขีดข่วนผิวหนังบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล(เลือดไหลซิบ) ก่อนหยดหนองฝีจากสัตว์ลงไป เพื่อช่วยให้ไวรัสเชื้อเป็นในหนองฝีเข้าสู่ผิวหนังและเพิ่มจำนวนกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ 

 

จากประสบการณ์ตรง (อดีตที่เคยถูกปลูกฝี) เพื่อนหลายคนปลูกฝีไม่ขึ้น (ไม่เกิดแผลเป็น) ต้องมาปลูกฝีซ้ำ แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อไวรัสฝีดาษผ่านทางผิวหนังไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย เว้นแต่ผิวหนังบริเวณนั้นมีรอยถลอกหรือเป็นแผลสด (ขนาดผิวหนังมีรอยถลอกหรือแผลไม่ลึกมากพอ เชื้อไวรัสก็ไม่สามารถมาติดเราได้) จึงอาจพอตอบคำถามได้ว่า เป็นการ “ยากมาก” ที่เราจะติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากที่นั่งส้วม เว้นแต่เรามีแผลสดที่ก้น

 

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผลสด รวมทั้งสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุต่างๆ เช่นเยื่อบุในปาก เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุดวงตา เยื่อบุช่องคลอด เยื่อบุทวารหนัก ฯลฯ โดยผ่านทางนิ้วมือ อวัยวะเพศ หรือ วัตถุที่เป็นพาหะนำโรค(fomite) เช่น  ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เซ็กซ์ทอย(ที่กับช่องคลอดหรือกับรูทวาร) ที่ใช้ร่วมกันโดยยังมิได้ชำระฆ่าเชื้อ

  • ปี ค.ศ. 1798 นพ. เอดเวิร์ด เจนเนอร์ ชาวอังกฤษได้เผยแพร่วิธีปลูกฝี ผู้ที่เข้ารับการปลูกฝี จะถูกกรีดบริเวณต้นแขนให้เกิดแผลสด ก่อนการหยดหนองฝีจากสัตว์ลงไป (vaccination) พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ (smallpox) ได้ตลอดชีวิต 
  • ปี ค.ศ. 1720 ในประเทศจีนและอินเดีย ได้ใช้หนองฝีของคนที่เป็นฝีดาษทำให้แห้ง บดเป็นผง และเป่าผ่านเข้าทางรูจมูก (mucosal vaccination) ของผู้คนที่ต้องการจะป้องกันตนเองจากการติดเชื้อฝีดาษในสมัยนั้น เรียกวิธีนี้ว่า “Variolation” ไวรัสจะเข้าไปในเยื่อบุทางเดินหายใจเพิ่มจำนวนในวงจำกัดและเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันต่อการติดเชื้อไวรัสฝีดาษ  

 

ทั้ง 2  กรณีพิสูจน์ว่า มนุษย์เราสามารถติดเชื้อฝีดาษผ่าน รอยถลอก บาดแผลสด และเยื่อบุ (mucosal tissue) ในร่างกาย

 

 

มาตรการป้องกันโรคฝีดาษวานร เน้นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที

 

อาการฝีดาษลิง

  • มีไข้ 
  • เจ็บคอ 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต 
  • มีผื่นแดง หรือตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขน ขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า 

ไทม์ไลน์อาการฝีดาษลิง

  • วันที่ 0-5 จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่อาการแรกที่มี มักจะเป็นอาการไข้ แต่ระยะออกผื่นมักจะเป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก

  • วันที่  1-3 วันหลังมีไข้ จะมีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนใหญ่ 95% ของผู้ป่วยจะมีผื่นที่หน้า และ 75% มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ยังสามารถพบผื่นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก 70%  และอวัยวะเพศ 30%  

 

ลักษณะของผื่นฝีดาษลิงจะพัมนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ผื่นนูนแดง(Maculopapular) ตุ่มน้ำใส (Vesicles)  ตุ่มหนอง(Pustules) และสะเก็ต(Crust)  โดยพบว่าหากผู้ป่วยมีผื่นลักษณะสะเก็ดขึ้นจนแห้งและร่วงหลุดไป จะไม่มีการแพร่เชื้อได้

ภาพจาก www.hfocus.org

 

 

 

รวบรวมข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข , Hfocus , Center for Medical Genomics

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง