รีเซต

รู้จัก'ค่ากำเหน็จ'และ'ค่าบล็อค'ก่อนซื้อทองคำ

รู้จัก'ค่ากำเหน็จ'และ'ค่าบล็อค'ก่อนซื้อทองคำ
TrueID
30 กรกฎาคม 2563 ( 12:16 )
42.8K
1
รู้จัก'ค่ากำเหน็จ'และ'ค่าบล็อค'ก่อนซื้อทองคำ

จับตากันไม่กระพริบ เมื่อเห็น ราคาทองคำวันนี้ พุ่งสูงจนเกือบจะทะลุ 30,000 บาท ต่อน้ำหนักบาททองคำ 

 

คนที่นำ“ทองคำ”ไปขายช่วงนี้ หากซื้อไว้ตั้งแต่ปีก่อน ก็จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำ แต่สำหรับคนที่จำเป็นต้องซื้อในช่วงราคาสูงแบบนี้ นอกจากราคาทองคำแล้วอย่าลืมบวก“ค่ากำเหน็จ”สำหรับทองรูปพรรณ และ“ค่าบล็อค”สำหรับทองคำแท่ง

 

 

ค่ากำเหน็จคืออะไร 

 

     ค่ากำเหน็จ หมายถึง ค่าแรงของช่างทองในการขึ้นรูปทอง แกะลายทอง จากทองคำแท่งมาเป็นทองรูปพรรณ ทั้งสร้อย กำไล แหวน ต่างหู จี้ เป็นต้น ดังนั้น ค่ากำเหน็จจึงแตกต่างไปตามความยากง่ายของลาย หรือการทำชิ้นงานนั้น โดยทั่วไปจะอยู่ในราว 600-1,200 บาท ต่อบาททองคำ 

 

     นอกจากนี้ ค่ากำเหน็จ ยังแบ่งออกได้ตามกลุ่มงานฝีมือช่าง ดังนี้ 

 

  • งานช่างทองโบราณ หรือ สกุลช่างต่างๆ 

        เช่น ทองลงยาอยุธยา ทองสุโขทัย ช่างทองเมืองเพชรบุรี งานเหล่านี้เป็นงานฝีมือ (masterpiece)ทำทีละเส้นและออกแบบลายเฉพาะตัว ขึ้นรูปแบบโครงถัก ตัดต่อ แกะลายเฉพาะ เป็นรูปลูกสนบ้าง กระดุมบัวสัตตบงกชบ้าง โคมไฟจีนบ้าง นอกจากนี้ บางสกุลช่าง เช่น ทองสุโขทัย จะใช้ทองคำ 99.9% ในการทำทองรูปพรรณ จึงต้องใช้ฝีมือมากขึ้นอีก ทำให้ค่ากำเหน็จอาจสูงถึงบาทละ 3,000 บาท ก็เป็นไปได้ในบางลวดลาย

 

  • งานทองรูปพรรณเข้าชุด

        งานทองรูปพรรณเข้าชุด หรือ Gold Collection จะประกอบไปด้วย สร้อยคอ สร้อยข้อมูล ต่างหู จี้ทอง กำไลข้อมือ แหวน หรือ แม้กระทั่งกระดุมเสื้อ เข็มกลัด หรือเครื่องประดับอื่นที่จะจัดเข้าชุดกัน โดยเน้นความหรูหรา ลวดลายต่างๆ เป็นแบบเข้าชุดกัน แน่นอนว่า เป็นงานฝีมือที่ยิ่งเพื่อราคาค่ากำเหน็จแพงกว่าปกติ

 

  • งานทองรูปพรรณแบบผสมขึ้นรูปจากชิ้นส่วนสำเร็จ

       เป็นงานทองคำ 96.5% ที่นำชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตด้วยเครื่องจักร มาขึ้นรูปผสมกับงานฝีมือ ส่วนใหญ่  คือ สร้อยทอง ทั้งสร้อยคอ หรือ สร้อยข้อมือ โดยจะมีมากกว่า 1 ลวดลายในเส้นเดียว มักจะมีคำว่า “คั่น” , “ระย้า” , “ข้าง” , “ปล้อง” , “ห้อย” , “ตุ้งติ้ง” หรือ “เชื่อม” ระหว่างลายสร้อย 2 ลาย เช่น ประคำคั่นโซ่ ซีตรองข้างตุ้ม ซีตรองมัดข้างตระกร้อ สี่เสาคั่นโอ่ง เป็นต้น แม้จะใช้ฝีมือช่างทองเข้ามาเชื่อมสองลายเข้าด้วยกัน แต่ไม่ได้ซับซ้อนมาก ราคาค่ากำเหน็จจึงไม่สูงมากเท่ากับ 2 แบบแรก ราคาจึงอยู่ในหลักร้อยปลายๆ ไปจนถึงพันต้นๆ

 

  • งานทองรูปพรรณที่ผลิตโดยเครื่องจักร

         เป็นงานทองคำรูปพรรณ 96.5% ผลิตจากเครื่องทอสร้อย ดังนั้น ลายจึงเหมือนกัน เรียบง่ายตลอดทั้งเส้น มีความแข็งแรง เช่น ลายโซ่ ลายกระดูกมังกร ลายเบ๊นซ์ ลายซีตรอง ลายผ่าหวาย ลายบิดโปร่งตัน เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างลายสร้อยทองยอดนิยมตลอดกาล ทองรูปพรรณประเภทนี้ค่ากำเหน็จจะไม่สูงมาก หน้าร้านทองจะกำหนดประมาณ 500-800 บาทต่อบาททองคำ 

 

 

ค่าบล็อค ใน ทองคำแท่ง คืออะไร 

 

     ค่าบล็อค ใน ทองคำแท่ง เปรียบแล้วก็เหมือนค่าแรงในการผลิตทองรูปพรรณ แต่การทำทองคำแท่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร การกำหนดค่าบล็อค บางโอกาสจึงไม่ใช่ค่าบล็อคจริงๆ แต่อาจเป็นค่าบริหารจัดการของ ร้านทอง ในแต่ละแห่ง เช่น ค่าขนส่ง ค่ารักษาจัดเก็บ เป็นต้น

 

ค่าบล็อคทองคำ มี 2 แบบ

 

   

      ค่าบล็อคทองคำแท่งแบบหลอมเบ้า หรือ Casting เป็นการนำทองมาหลอมละลายแล้วหยอดลงเบ้า พอเริ่มเซ็ทตัวนำออกจากเบ้าทิ้งให้เย็น แล้วนำไปแช่น้ำให้แข็งตัว ก่อนนำไปพิมพ์ลายอีกครั้ง หรือเรียกว่าทองคำแท่งแบบ Cast Bar ส่วนมากวิธี Casting จะใช้ผลิตทองคำแท่งแบบน้ำหนักมากๆ เช่น แท่งละ 5 บาท 10 บาท จนถึง หนัก 50 บาท หรืออาจแบ่งเป็นแท่งละ 100 กรัม 500 กรัม 1,000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม เป็นต้น วิธีแบบนี้จำหน่ายในปริมาณให้กับผู้ประกอบการที่ไปปลิตเป็นทองรูปพรรณต่อไป จึงไม่ค่อยนิยมคิดค่าบล็อค

 

 

   

       ค่าบล็อคทองคำแท่งแบบรีดแผ่น การผลิตแบบวิธี Stamping หรือเรียกว่าทองคำแท่งแบบ Minted Bar หลักการวิธีนี้ คือ นำทองคำไปทำเป็นแผ่นใหญ่ๆ จากนั้นเข้าเครื่องรีดให้เป็นแผ่นบางลง แล้วนำมาตัดด้วยใบตัดให้ออกมาเป็นรูปตามต้องการ แล้วนำไปพิมพ์ลาย โลโก้ หรือนำไปพ่นทราย ทำลวดลายต่างๆ และบรรจุในแพ็คเกจที่สวยงามเพื่อจำหน่ายต่อไป  ส่วนมากทองคำแท่งแบบ Stamping จะผลิตแบบน้ำหนักน้อยๆ เช่น 1 สลึง 2 สลึง  1 บาท เป็นต้น หรืออาจมีแบบเล็กมากในน้ำหนักเพียง 1 กรัม แต่ส่วนใหญ่จะเห็นจำหน่ายในน้ำหนัก 1 บาททองคำ เป็นส่วนใหญ่ ทองคำแท่งแบบ Stamping มีความสวยงามกว่าแบบ Casting หลายยี่ห้อมีลวดลายหลากหลาย เช่น ลายนักษัตร ลายหัวใจ ลายเทพเจ้า ลายฮก ลก ซิ่ว ลายมังกร อักษรจีนที่มีความหมายดีๆ จึงนิยมซื้อไปเก็บสะสม ให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ หรือพิธีหมั้น เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การซื้อทองคำแท่งจากร้านค้าทอง ส่วนใหญ่หากซื้อทองคำแท่ง 1 บาททองคำส่วนใหญ่จะเสียค่าบล็อค บาทละ 250-300 บาท แต่หากซื้อครั้งละ 5 บาททองคำขึ้นไป ส่วนใหญ่ร้านทองจะไม่คิดค่าบล็อค 

 

  ส่วนเวลาจะขายทองคำ หรือ จำนำทองคำ ราคาค่ากำเหน็จ และ ค่าบล็อค จะไม่นับรวมในราคาทองด้วย จึงต้องคำนวณให้ดีหากจะซื้อเพื่อเก็งกำไร เพราะ ค่ากำเหน็จ และ ค่าบล็อค จะเป็นต้นทุนเมื่อต้องซื้อทองด้วยอยู่แล้ว. 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง