รีเซต

ธุรกิจSMEs โอกาสในวิกฤต อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน สู้โควิด-19

ธุรกิจSMEs โอกาสในวิกฤต อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน สู้โควิด-19
PakornR
3 มีนาคม 2564 ( 13:01 )
302
ธุรกิจSMEs โอกาสในวิกฤต อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน สู้โควิด-19

ผลกระทบธุรกิจเอสเอ็มอี 

  • สถานการณ์โควิด-19
  • รายได้ที่ลดลง
  • รายจ่ายยังคงที่

 

“ถ้าล้มแล้วไม่ลุก ไม่ใช่แค่เราที่เดือดร้อน แต่พนักงานอีก 80 ชีวิต ที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา จะต้องเดือดร้อนไปด้วย!”

“จุไรรัตน์ รามจาตุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทำอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งทั้งคาว หวาน ส่งให้กับครัวร้อนในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง บอกเล่าเรื่องราว เมื่อวันที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก ส่งผลรุนแรงต่อธุรกิจของเธอ

“ปกติแล้วธุรกิจของเราจะสร้างรายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปีจากรายได้หลักคือ อาหารแช่แข็งพร้อมอุ่นขายที่เราซัพพลายให้กับครัวร้อนของซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ แต่เมื่อปีที่แล้วมีโควิด-19 พฤติกรรมคนเปลี่ยน กับข้าวหรืออาหารแบบตักร้อนถาดรวมใหญ่ขายไม่ค่อยได้ รายได้ลดลงมาก ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ลดลงเลย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ต้องตั้งสติ ต้องสู้ ไม่สู้ไม่ได้ เพราะถ้าเราล้มแล้วไม่ยอมลุกขึ้นเดินต่อ ไม่ใช่แค่เราที่เดือดร้อน แต่พนักงานอีก 80 ชีวิตที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา จะต้องเดือดร้อนไปด้วย ...”

 

สินค้าประเภท  Ready to Eat ภายใต้การให้คำแนะนำจากแม็คโคร

 

'แม็คโคร'พันธมิตรสู้วิกฤติ

  • สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ 8 รายการ
  • อาหารพร้อมรับประทาน
  • อาหารแช่แข็ง

เมื่อดึงสติกลับมาได้ เธอทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจรอด มีเงินจ่ายเงินดือนพนักงาน ทรัพย์สินอะไรที่จะช่วยหนุนสภาพคล่องได้ เธอเอามาใช้ต่อลมหายใจเกือบหมดหน้าตัก รวมถึง ปรับมุมคิดวางแผนสู้ต่อ...

“แม็คโคร แนะนำให้เราผลิตสินค้าประเภท RTE หรือ Ready to Eat อาหารพร้อมรับประทาน รองรับกับพฤติกรรมผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคที่ลดความนิยมอาหารปรุงสุกในครัวอุ่นร้อนของห้างฯ หันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้น จากเหตุผลด้านความปลอดภัย ความสะดวก และอายุของอาหารที่เก็บได้นานกว่า เรามองเห็นโอกาสนั้นเพราะธุรกิจเราได้รับผลกระทบเต็มๆ จึงเริ่มต้นผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ 8 รายการให้กับแม็คโคร เมื่อกลางปี 2563”


สำหรับสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานของอารีย์ฟู้ดส์ ที่ผลิตภายใต้เฮ้าส์แบรนด์ของแม็คโคร ประกอบด้วย แกงเหลือง, แกงไตปลา, คั่วกลิ้ง, สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าแฮม, สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศหมู, สปาเก็ตตี้ขี้เมาหมู, ข้าวซอย, แกงฮังเล และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดตัว แบรนด์ “เฮง เฮง เฮง” ที่เป็นสินค้าช่วงตรุษจีน (ไก่ไทยต้ม, เป็ดพะโล้, หมูสามชั้นพะโล้, ปลากระพงทองนึ่ง) ซึ่งเน้นผลิตในขนาดที่ผู้ประกอบการต้องการ พร้อมนำไปอุ่นขายต่อถ้วยได้ทันที

หลังปรับตัวสู้อย่างสุดกำลัง สินค้าได้รับการตอบรับดี ธุรกิจ “อารีย์ฟู้ดส์” เริ่มหายใจคล่องขึ้น เครื่องจักร 6 ไลน์ผลิตในโรงงาน กลับมาคึกคักเปิดรับคำสั่งซื้อที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พนักงานทุกชีวิตก็ไม่ย่อท้อ ขอร่วมแรงใจสู้วิกฤตไปพร้อมกัน

“การที่ SMEs รายเล็กๆ จะเข้าโมเดิร์นเทรดได้นั้นไม่ง่าย เรามีสิ่งที่จะสู้ได้คือ คุณภาพและราคา ที่สำคัญต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เขาสั่งเราผลิตให้ได้”

 

เคล็ดลับทำธุรกิจให้อยู่รอด

  • เข้าใจลูกค้า
  • ตลาดธุรกิจอาหาร
  • ราคาสินค้าในตลาด

จุไรรัตน์ แบ่งปันเคล็ด(ไม่) ลับทำธุรกิจให้อยู่รอด ด้วย หลัก 3 รู้ นั่นคือ 1. รู้ความต้องการว่าลูกค้า โดยใช้ข้อดีของ SMEs คือความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย ให้เป็นประโยชน์ 2. รู้เทรนด์ตลาดของกลุ่มธุรกิจอาหาร ยิ่งรู้ล่วงหน้ายิ่งดี เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ และ 3. รู้ราคาสินค้าในตลาด โดยเฉพาะ “ตลาดนัด” ที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป เพราะหากขายแพง ผู้ประกอบการนำไปขายต่อขายไม่ได้ สินค้าก็จะไม่ถูกเลือก

“การทำธุรกิจ ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ ไม่ใช่ว่ามีผลิตภัณฑ์เท่านี้จะมีเท่านี้ตลอดไป อย่าลืมว่าธุรกิจอาหารคู่แข่งเยอะมาก หากไม่พัฒนา สักวันคู่แข่งจะมาแย่งพื้นที่เรา อีกทั้งต้องมองช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ หมั่นเพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก”

ทุกวันนี้ “อารีย์ฟู้ดส์” มีรายได้เพิ่มขึ้น ยืนหยัดได้แม้วันที่โควิด-19 ส่งผลกระทบระลอกใหม่ พนักงานกว่า 80 ชีวิตยังคงมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งหากคิดรายได้ทั้งหมดในตอนนี้ของอารีย์ฟู้ด เธอว่า... กว่า 60% มาจาก แม็คโคร เพื่อนคู่คิดธุรกิจรายย่อย ที่ทำให้เธอลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง!

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง