เช็กปฏิทินการเมืองรับ ‘รัฐบาลชุดใหม่’ เดือน ก.ย.66
ภายหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา มติรัฐสภาเสียงข้างมา 482 เสียง เห็นชอบให้ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย จนขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการภายใต้นำโดย ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ความเข้มข้นของการเมืองหลังจากนี้ตลอดเดือนกันยายนก็ยังเป็นที่จับตาต่อไปว่าจะมีอะไรบ้างเกิดขึ้นบ้าง ในโอกาสนี้ TNN online จึงขอประมวลปฏิทินกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลดังนี้
5 ก.ย. 66 : ครม. ชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ครม. ชุดใหม่ นัดรวมตัวถ่ายรูปทำบัตรคณะรัฐมนตรี ก่อนที่ ครม. จะเดินทางด้วยรถตู้ออกจากทำเนียบรัฐบาลในเวลา 11.30 น. เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
โดยหลังจากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นำคณะรัฐมนตรีร่วมแถลงข่าว ระบุว่า วันนี้ตนได้นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์และปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนและคณะรัฐมนตรีจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป พร้อมขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็น ‘รัฐบาลของประชาชน’ และทุกท่านที่มาในวันนี้ มาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน
6 ก.ย. 66 : ประชุม ครม.นัดพิเศษ หารือถึงการเตรียมตัวในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ตามที่ปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของเศรษฐาจะมีการประชุม ครม.นัดพิเศษเพื่อเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งจะเกิดขึ้นวันที่ 11 ก.ย. นี้ นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากนั้น ครม. จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรกในวันที่ 12 ก.ย. 66 ซึ่งจะเป็นการใช้อำนาจทางบริหารเต็มที่อย่างเป็นทางการไม่ว่าจะเป็นมติ ครม. เพื่อผ่านนโยบาย ร่างกฎหมายที่เข้ามา ตลอดจนการออกมาตรการต่างๆ และการแต่งตั้งข้าราชการหรือตำแหน่งที่สำคัญตามอำนาจของ ครม. เป็นต้น
8-9 ก.ย. 66 : ครม. ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย
8 ก.ย. นี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพูดคุยและรับทราบปัญหาของประชาชนทุกคน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป พร้อมระบุว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำงานในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย โดยยึดความต้องการของประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง
11 ก.ย. 66 : นายกฯ แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีระบุว่า สัปดาห์หน้าในวันจันทร์ (11 ก.ย. 66) จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลนี้จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ภายใต้หลักการที่มีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งรัฐบาลจะสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับประชาชน เพื่อประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต
โดยก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พร้อมเดินหน้ายกระดับความเป็นอยู่ประชาชนคนไทยทุกคน ขณะที่สังคมเองก็มีการจับตา 'นโยบาย' จากพรรคเพื่อไทย ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ และเมื่อไหร่ รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินนโยบายนั้นจะมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท, รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รวมไปถึงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน
อีกทั้งในวันดังกล่าวคาดว่าจะมีการอภิปรายของฝ่ายค้านและ สว.บางส่วนต่อนโยบาย ที่ ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล วิจารณ์ว่ารวบรัดการแถลงนโยบายเหลือเพียงวันเดียว เท่ากับกำลังสื่อว่ามาตรฐานการให้ความสำคัญกับงานสภาฯ ของรัฐบาล ถือเป็นการรวบรัดโอกาสที่ผู้แทนราษฎรจะได้เสนอแนะความคิดเห็น รวบรัดการรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนตั้งแต่ต้น
12 ก.ย. 66 : ประชุม ครม.นัดแรก
การประชุม ครม. นัดแรก นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจทางบริหารเต็มที่อย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยแถลงไว้เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากยุติ MOU 8 พรรคร่วมเดิมจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล ซึ่งวาระสำคัญที่พรรคเพื่อไทยระบุในแถลงการณ์ฉบับนั้นคือในการประชุม ครม.ครั้งแรกจะมีการอนุมัติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดตั้ง สสร. โดยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้รัฐธรรมนูญ
13 ก.ย. 66 : สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเข้าปฎิบัติงานที่กระทรวงกลาโหมวันแรก
นับเป็นอีกหนึ่งเก้าอี้ที่น่าจับตามองสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มี ‘นายสุทิน คลังแสง’ พลเรือนที่ไม่ใช่นายกฯ พ่วง นั่งเก้าอี้คุมเป็นคนแรก ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยนายสุทิน ยอมรับว่ามีทีมงานที่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังหาคนที่เหมาะสม ทั้งทหารที่อยู่ในราชการ ทหารที่เกษียณ และนักวิชาการ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า
ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เป็นบรรทัดฐานว่า ‘พลเรือนก็บริหารกลาโหมได้’ อย่าให้กองทัพ และประชาชนผิดหวัง พร้อมกับนโยบายหลักพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ทั้งช่วงหาเสียงและเว็บไซต์ของพรรคเองคือ “ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ”
18 - 23 ก.ย.66 : นายกฯ เข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ครั้งที่ 78 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
อีกหนึ่งภารกิจที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องเดินทางไปในเดือนกันยายนนี้ นั่นคือการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ครั้งที่ 78 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเดินทาง โดยมีรายงานว่า นายปานปรีย์ ระบุว่า ได้เตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยงานด้านต่างประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การเรียกความเชื่อมั่นจากนานาชาติมาสู่ประเทศไทย
เรียบเรียง : ยศไกร รัตนบรรเทิง
อ้างอิง/เรียบเรียง
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230905190014043
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/71960
https://www.bbc.com/thai/articles/cw48ppdwx8zo
https://www.facebook.com/pheuthaiparty/posts/pfbid022HocxmZxKJp1QXtm4gaNvsrtK7ytoZRVd72ZpwjgavoyL3MqapxgL6WYZHZQ6uuVl