เสียงจาก ‘พื้นที่’ หนุน-ค้าน ภูเก็ตโมเดล
ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า “ภูเก็ตโมเดล” จังหวัดแรกที่จะนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในรูปแบบการจำกัดพื้นที่เดินทางและอยู่อาศัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19จะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
เพราะล่าสุดจากการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมในจังหวัดภูเก็ตของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการประเมินว่า คงไม่สามารถเปิดได้ทันภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ตามที่คาดหวังไว้ แต่จะพยายามจัดทำแผนการทำงานให้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อเปิดรับต่างชาติทันในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี
ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องจากชาวภูเก็ต ขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะเกรงเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19
นายพิพัฒน์ระบุว่า จากการรับฟังชาวจังหวัดภูเก็ตได้มีข้อเรียกร้อง ขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะมีทั้งส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อ ซึ่งทำให้การเริ่มนำร่องรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้ ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือไม่ โดยปัจจัยทุกอย่างคงขึ้นอยู่ที่ความพร้อมของหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามา และความพร้อมของสถานที่รองรับ ถึงแม้รัฐบาลได้วางมาตรการไว้อย่างรัดกุม ตามกระบวนการที่ ศบค.กำหนด ในทุกขั้นตอนแล้ว
“การเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะใช้แนวทางเดียวกับคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยผู้ที่เข้ามานั้นจะต้องมีใบตรวจโควิด-19 เป็นเวลา 72 ชั่วโมง และนำไปยื่นขอวีซ่าจากทางสถานทูต เมื่อถึงสนามบินจะต้องมีการสวอบ หากไม่มีปัญหาก็จะเข้าไปยังสถานที่กักตัวตามที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างนั้นต้องทำสวอบอีก 2 ครั้ง เมื่อครบ 14 วันแล้วก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ได้ จากการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการในภูเก็ต ได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการที่ ศบค.กำหนด” นายพิพัฒน์กล่าว
ในขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งสัญญาณห่วงการระบาดรอบสอง และอยากให้มีการปรับแผนให้รัดกุม
ในมุมของผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้น นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวหาดป่าตอง เห็นว่าสิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องแรก คือ การเยียวยาเป็นเงินให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพที่สูงต้นๆ ของประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน อย่างน้อยคนละ 10,000 บาทต่อเดือน ถัดมาการพักชำระหนี้เป็นเวลา 1-3 ปี และการฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ เกิดการจ้างงาน หากทำอย่างต่อเนื่องภูเก็ตมีโอกาสที่จะฟื้นได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขต่างๆ
นายปรีชาวุฒิเน้นย้ำว่า การที่ภูเก็ตจะเปิดหรือไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น หากจะเปิดจะต้องดำเนินการตามแนวทางของ ศบค.หรือยึดมาตรฐาน 5T ประกอบด้วย T : target การกำหนดกลุ่มที่เดินทางเข้ามาโดย ศบค. และกักตัว 14 วัน T : testing การคัดกรองตรวจหาเชื้อที่ต้นทาง และที่สนามบินภูเก็ต T : tracing การติดตามโดยมีแอพพลิเคชั่นตามตัวแบบเรียลไทม์ T : treatment การดูแลรักษา มีบุคลากร และเครื่องมือ เวชภัณฑ์ยาที่เพียงพอ และ T : trust การสร้างความเชื่อมั่นโดยสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วน
เพราะปัจจุบันเราทดลองไปแล้วด้วยการรับคนไทยกลับเข้ามา และหากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง จะไม่รู้ว่ามีคนเข้ามา 8-9 หมื่นคน และการที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลาถึง 100 วัน เป็นการยืนยันให้เห็นถึงความพร้อมด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ตหรือกรุงเทพฯหรือพัทยา ซึ่งเหมือนกัน เพียงแต่เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเลือกภูเก็ตเป็นต้นแบบ จริงๆ เราไม่ใช่เป็นต้นแบบ แต่เป็นการทดลองระบบครั้งที่ 2 จึงอย่ากังวล เมื่อมีระบบดีที่กรุงเทพฯแล้ว เชื่อว่าภูเก็ตสามารถทำได้เพราะมีศักยภาพไม่เป็นรองใคร เพราะคนที่อยู่ในภูเก็ตขณะนี้ 80-90% เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หากไม่มีการทดลองก็ไม่มีการเรียนรู้ในการดูแลและจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ด้าน นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า ภูเก็ตโมเดลนั้น จากการพูดคุยกับหลายภาคส่วน อยากบอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ขณะนี้มีข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว และทราบว่าทางจังหวัดอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน หากคนภูเก็ตส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าจะไม่เอานายกรัฐมนตรีก็คงไม่เปิดและรัฐบาลคงไม่บังคับ แต่อยากฝากว่ารายได้ของภูเก็ตประมาณ 80-90% มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวแต่คงไม่สามารถเติมในส่วนที่ขาดไปได้
จากมาตรการที่กำหนดนั้นค่อนข้างชัดเจนที่จะรับนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลกรณีเกิดปัญหา โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งเก็บจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ในส่วนนี้น่าจะช่วยบรรเทาความกังวลไปได้ เพราะเราจะรอให้โควิด-19 หมดไปคงเป็นไปไม่ได้ สิ่งสำคัญต้องการ์ดอย่าตก
ส่วนประเด็นข้อห่วงใยเรื่องการระบาดของโควิดหากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น นายปรีชา ใจอาจ ผู้ประกอบการรายหนึ่งในภูเก็ต ยอมรับว่า ยังมีคนที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตจำนวนมากยังไม่ทราบว่าจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและยังมีคำถามว่าเปิดแล้วได้อะไร ใครได้อะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเกิดการระบาดรอบ 2 หรือเกิดปัญหาจะทำอย่างไร เชื่อว่าคำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาทั้งหมด
การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศบินตรงเข้ามาภูเก็ต โดยมีการคัดกรองจากต้นทาง ปลายทางตามกระบวนการนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นไปไหน ไปหาใคร เงินไปลงที่ไหน สมมุติไปลงที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่ง ทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ที่อยู่โรงแรมนั้นจะไปไหนไม่ได้ จะต้องอยู่ในกระบวนการกักตัว 14 วัน และจากข่าวที่ผ่านมา คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศและเข้ากระบวนการกักตัวที่ชลบุรี พบมีการติดเชื้อทุกไฟลต์ แล้วคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามานั้น อาจจะต้องการหนีตายมาหาที่ปลอดภัยในภูเก็ตและประเทศไทยจะไม่มีเชื้อ สมมุติว่าคนเหล่านั้นมีการติดเชื้อขึ้นมา ทางภาครัฐจะมีอะไรรับรองเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ
“ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ชัดเจน ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถึงแม้ส่วนตัวและครอบครัวจะเป็น 1 ในผู้ได้รับผลกระทบ เพราะครอบครัวทำธุรกิจท่าเรือที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 300 ล้านบาท มีภาระต้องผ่อนจ่ายให้ธนาคาร เดือนละหลายแสนบาทต่อเดือน แต่ต้องยอม เพื่อชีวิตที่ปลอดภัย” นายปรีชากล่าว
ส่วนสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ตนั้น ข้อมูลล่าสุดที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต สำรวจข้อมูลการเดินทางตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมามีเที่ยวบินเข้าภูเก็ต จำนวน 34 เที่ยวบินต่อวัน โดยเป็นเที่ยวบินจากกรุงเทพมหานคร 30 เที่ยวบิน ส่วนเที่ยวบินที่เหลือมาจาก จ.เชียงใหม่, เชียงราย และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เฉลี่ยอัตราการบรรทุกผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางของการท่องเที่ยว (load factor) ประมาณ 80% ต่อเที่ยว เฉลี่ยจำนวนผู้โดยสาร 4,900 คนต่อวัน
โรงแรมที่เปิดให้บริการ มีเพียง 125 แห่ง จำนวน 8,000 ห้อง ยอดจองอัตราเข้าพัก ใน 1 สัปดาห์ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ชาวไทย 98% และเป็นชาวต่างชาติที่ทำงาน และอยู่อาศัยในไทย 2% เท่านั้น
นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อน “ภูเก็ตโมเดล” จากคนในพื้นที่ที่ทุกภาคส่วนต้องรับฟัง