รีเซต

ลุ้นครม.เคาะวันนี้แพจเกจใหญ่เยียวยาพิษโควิดระลอก3 ทุกกลุ่ม ชงลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน

ลุ้นครม.เคาะวันนี้แพจเกจใหญ่เยียวยาพิษโควิดระลอก3 ทุกกลุ่ม ชงลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน
มติชน
5 พฤษภาคม 2564 ( 08:25 )
190
ลุ้นครม.เคาะวันนี้แพจเกจใหญ่เยียวยาพิษโควิดระลอก3 ทุกกลุ่ม ชงลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 7หมื่นคน ผู้เสียชีวิต 276คน สร้างผลกระทบมากมายต่อภาคธุรกิจ และประชาชน จนมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยารอบใหม่

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการพิจารณาแนวทางมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ชุดใหญ่ เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน

 

 

โดยแนวทางการช่วยเหลือจะมีทั้งมาตรการทางการคลัง การเงิน และการลดค่าครองชีพ อาทิ การให้เงินเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่มตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อย่างแรงงานในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิด ผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยกู้ฉุกเฉินให้ชาวบ้านวงเงินอีกกว่าหมื่นล้านบาท ขยายเวลาพักหนี้ให้ผู้เดือดร้อน รวมถึงยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่าย อาทิ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ สำหรับวงเงินที่ใช้จะยังอยู่ในกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน ที่ปัจจุบันเหลือใช้อีก 2.3 แสนล้านบาท

“แพคเกจดูแลเศรษฐกิจรอบนี้มีหลายหน่วยงานเสนอเข้ามา ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แต่ยังไม่แน่ว่าทุกโครงการจะเสนอได้ทันทีหรือทยอยอนุมัติ โดยตามหลักการมีความจำเป็นต้องคลอดมาตรการเยียวยาก่อน ดังนั้น มาตรการคนละครึ่ง 3 และมาตรการกระตุ้นให้ผู้มีเงินออมออกมาใช้จ่าย จะอยู่ในมาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งไม่ควรออกมาซ้อนกัน จึงเตรียมคลอดในระยะถัดไป” รายงานข่าวระบุ

 

 

ชงลดค่าไฟฟ้า2ด.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอก 3 นั้น สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เรื่องมาตรการลดค่าไฟฟ้า ระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษถาคม-มิถุนายน 2564 เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ใช้งบประมาณรวม 8,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นมาตรการรูปแบบเดียวกับการช่วยเหลือในการระบาดโควิดระลอก 2 ที่ผ่านมา โดยใช้ค่าไฟฐานเดือนเมษายน 2564 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ แบ่งเป็น 3 มาตรการ

 

 

มาตรการที่ 1 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1 (ระบุไว้ที่หน้าบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้า) ได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก รวมค่าบริการ โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564

 

 

ขณะที่มาตรการที่ 2 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.2 และ 1.3 ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 โดยกรณีการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า หรือเท่ากับหน่วยประจำเดือนเมษายน (เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงประจำเดือนนั้นๆ

 

 

ยึดฐานบิลเม.ย.64
รายงานข่าวระบุว่า อย่างไรก็ตาม กรณีการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีจำนวนหน่วยมากกว่าเดือนเมษายน (เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มีแนวดำเนินการดังนี้ หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน แต่หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนในอัตรา 50% และหากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนได้สิทธิ มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ในอัตรา 70%

นอกจากนี้ มาตรการที่ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ประเภท 2.1 และ 2.2 (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก (รวมค่าบริการ) โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

 

จ่อทบทวนเพดานหนี้สาธารณะ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เพื่อทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากขณะนี้ครบรอบกำหนด 3 ปีที่จะต้องทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังแล้ว หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561

 

 

นางแพตริเซียกล่าวว่า การปรับกรอบวินัยการเงินการคลังนั้นจะอ้างอิงการขยายตัวของจีดีพีตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดเป็นหลัก ส่วนรอบใหม่ที่มีการทบทวนนั้นจะมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะมากกว่า 60% ของจีดีพีหรือไม่ จะต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศก่อน ซึ่งการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้นหากสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา เหมือนกับต่างประเทศที่หนี้สาธารณะเกินกรอบแต่ก็สามารถบริหารจัดการได้

 

 

กู้1ล้านลบ.หนี้สาธารณะไม่เกิน60%
นางแพตริเซียกล่าวว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 กรอบหนี้สาธารณะของไทยจะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพีแน่นอน แม้จะมีการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท มาใช้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 แต่หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพีเท่านั้น ไม่น่าเป็นห่วง เพราะประเทศไทยเคยมีหนี้สาธารณะสูงสุดในปี 2540 ถึง 59.98% แต่ภาครัฐก็สามารถบริหารจัดการได้ และถือว่าที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้ดีมาโดยตลอด

 

 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การทบทวนกรอบวินัยการคลังครั้งนี้ มองว่าจะยังไม่มีการปรับกรอบวินัยการเงินการคลังให้เกิน 60% ของจีดีพี เนื่องจากภายใน 5 ปี (2564-2569) ถ้าไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติมจากที่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ต่อจีพีแน่นอน

 

 

เลื่อนเราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งผ่านไปแล้ว 1 เดือน แต่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นตรงกันว่าควรชะลอโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทย ออกไปก่อน หลังจากกำหนดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดยสัปดาห์หน้า จะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดรายละเอียดใหม่อีกครั้ง ทั้งวันเริ่มดำเนินการ และวันสิ้นสุดโครงการ

 

 

“เบื้องต้นคาดว่าจะขออนุมัติขยายเวลาดำเนินโครงการถึงสิ้นปี 2564 แทน จากเดิมที่กำหนดใช้ได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ เพราะโครงการจำเป็นต้องเลื่อนไปก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้จะออกทั้ง 2 โครงการมาตามกำหนดเดิมก็เชื่อว่าบรรยากาศในตอนนี้ คงไม่มีใครอยากออกเดินทางแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว

 

 

เดินหน้าภูเก็ตโมเดล 1 ก.ค.
นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับกำหนดการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ในภูเก็ตโมเดล ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนั้น เบื้องต้นยังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อนำร่องให้เห็นภาพชัดเจน และสามารถใช้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการเรียนรู้ เพื่อปรับใช้ในพื้นที่อื่นได้ โดยสถานการณ์การระบาดโควิดในขณะนี้ แม้จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากภูเก็ตโมเดล จะเป็นการเปิดรับต่างชาติให้มาเที่ยวอยู่ในเฉพาะบริเวณที่กำหนดไว้ และเป็นต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว รวมถึงคนในภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% ของจำนวนคนทั้งหมดในพื้นที่ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตแล้ว 2 แสนโดส เหลืออีก 7.5 แสนโดส ที่ได้ขอรัฐบาลไปแล้ว คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ น่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มครบตามจำนวน

 

 

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับกรณีคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังสหรัฐ เพราะต้องการฉีดวัคซีนต้านไวรัสนั้น อยากให้คนไทยตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดให้ละเอียดและชัดเจนก่อน อาทิ การเดินทางไปสหรัฐจะต้องกักตัวหรือไม่ ได้รับวัคซีนทันทีจริงหรือไม่ เมื่อถึงแล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทันที หรือต้องรอตรวจสอบอย่างไรก่อน รวมถึงข้อสำคัญคือ เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทย จะต้องถูกกักตัวอีก 14 วัน เพื่อตรวจสอบว่าปลอดเชื้อโควิดจริงหรือไม่ จึงอยากฝากให้ประชาชนที่สนใจกรณีดังกล่าง ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง ซึ่งจะเกิดผลเสียกับตัวของประชาชนเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง