รีเซต

ส่องสรรพคุณ “กระท่อม” พืชทางยา ปลดล็อคจากยาเสพติด

ส่องสรรพคุณ “กระท่อม” พืชทางยา ปลดล็อคจากยาเสพติด
Ingonn
28 พฤษภาคม 2564 ( 13:05 )
1.2K
ส่องสรรพคุณ “กระท่อม” พืชทางยา ปลดล็อคจากยาเสพติด

จากราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2564 ยกเลิก “พืชกระท่อม” จากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2564 เป็นต้นไปทำให้กระแสความนิยมของกระท่อมกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง 

 

 

วันนี้ TrueID ได้หยิบยกสรรพคุณสมุนไพร “กระท่อม” ที่ปลดล็อกจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง ก่อนนำมาใช้จริง

 

 

 

ปลดล็อก “กระท่อม”

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2564 โดยมีใจความว่า ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2564 เป็นต้นไป

ราชกิจจาฯ เพิกถอน 'พืชกระท่อม' ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5

 

 

 

รู้จัก “กระท่อม” 


กระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแสงแดดปานกลาง กระท่อมจัดเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา สมัยโบราณมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้กระท่อมในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานเพื่อกดความรู้สึกเมื่อยล้า ทนต่อการทำงานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดด และสามารถทำงานได้ยาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น เช่น ฝิ่นและมอร์ฟีน เป็นต้น 

 

 

การกิน “กระท่อม”


ชาวบ้านที่ใช้พืชกระท่อม โดยการ ต้มใบสด และใบแห้งกับน้ำ เคี้ยวใบสด เอาก้านใบออก เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบขึ้นอยู่กับขนาดของใบกระท่อม บางคนใช้เพียงวันละ 1 ครั้ง, ทุกๆ 1 หรือ 2-3 ชั่วโมงต่อคำ หรือเคี้ยวตลอดวัน และส่วนใหญ่ใช้กระท่อมร่วมกับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ หรือร่วมกับการสูบใบจาก

 

 


ประโยชน์ทางยาของ  “กระท่อม”


1.การใช้กระท่อมในขนาดต่ำจะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า สามารถทำงานได้นานขึ้น


2.บรรเทาอาการปวด บวม คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวดซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกระท่อมในการนำมาพัฒนาเป็นยาได้ เช่น อาการไอ ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดฟัน


3.สามารถลดปริมาณอาหารและน้ำที่บริโภค ลดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กส่วนต้น เพิ่มอัตราการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์


4.ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคเรื้อรัง ต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคบิด


5.ใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น เช่น มีผู้ที่เคยติดยาบ้า เฮโรอิน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนมาใช้ใบกระท่อมทดแทนสารเสพติดเหล่านั้น แต่อย่าใช้ใบกระท่อมเป็นประจำจนเกิดภาวะติดกระท่อม

 

 


4x100 กับ กระท่อม

 

ปัจจุบันใบพืชกระท่อมมีการแปรรูปเพื่อสะดวกในการใช้ เช่น แปรรูปเป็นกระท่อมผง กระท่อมตากแห้ง หรือนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับสารหรือยาให้มีฤทธิ์ตามที่ต้องการ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า 4x100 

 

น้ำผสม 4x100 มีส่วนผสมหลายชนิดขึ้นกับผู้ใช้ ส่วนผสมหลักคือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลม (โค้ก) และยาแก้ไอ หรือยาอื่นๆ ผลกระทบของการใช้สี่คูณร้อยขึ้นกับส่วนผสม และปริมาณของสารที่ใช้ร่วม พืชกระท่อมมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนน้ำอัดลมมีสารคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นสมองส่วนกลาง ยาแก้ไอทำให้ง่วงซึม หรือยาชนิดอื่นที่นำมาผสมอาจเป็นยานอนหลับมีฤทธิ์กดประสาท เมื่อนำมาผสมเข้าด้วยกันจะออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว

 

ปัจจุบันวัตถุประสงค์ในการใช้พืชกระท่อม กลายเป็นกลุ่มวัยรุ่น ที่มักใช้เพื่อความสนุกสนาน คึกคะนอง สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาอาชญากรรม เช่น การลักขโมย การค้ากระท่อม การรวมกลุ่มเพื่อทำพฤติกรรมเสี่ยงหรือผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาสังคม 

 

 


ผลกระทบจากการเสพ “กระท่อม” มากเกินไป

 

1.หลังเคี้ยวใบกระท่อม 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน  ทำให้ทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น


2.เกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น


3.อาการข้างเคียง ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็ง นอนไม่หลับ มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม)


4.เสพโดยไม่ได้รูดก้านใบออกจากตัวใบ อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ (เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดก้อนถุง)


5.เสพมากบางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

 

 

ระวังอาการ “เมากระท่อม”


ผู้ใช้พืชกระท่อมส่วนใหญ่มักเคยมีอาการ ‘เมา’ กระท่อมเมื่อใช้เป็นครั้งแรก เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมปริมาณมากติดต่อกัน หรือใช้ในขณะที่ท้องว่าง หรือเมื่อใช้ใบกระท่อมชนิดที่ทำให้เมา อาการเมากระท่อมจะมีอาการ แขนขาอ่อนแรง เดินไม่ไหว หน้าแดงชาและตึง หูร้อน หูอื้อและชา ง่วง ซึม ลิ้นชา ตาลาย พร่ามัว มึนหัว ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อยากอาเจียนแต่ไม่อาเจียน พะอืดพะอม บางรายมีอาการมาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น ตัวสั่น แน่นหน้าอก ปวดปัสสาวะอุจจาระแต่ไม่ถ่าย ร้อนไปทั้งตัว เหงื่อออก อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 5-10 นาที ถ้ามีอาการมากต้องนอนพัก ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะมีวิธีการรักษาอาการดังกล่าวด้วยตนเอง เช่น นั่งหรือนอนพัก ทำงานให้เหงื่อออก หรืออาบน้ำเย็น กินน้ำเย็น กินผลไม้เปรี้ยว หรือกินอาหาร เป็นต้น

 

 

 

ดังนั้นแม้มีการปลดล้อก “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แล้ว แต่การบริโภคกระท่อมยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากภาวะติดกระท่อมด้วย หากใช้เกินขนาดอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย คนรอบข้าง รวมถึงสังคมได้ จึงควรบริโภคเพื่อความพอดี ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวด ความเมื่อยล้า แทนการต้มใบในการเสพเพื่อความมึนเมา

 

 

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , เกษตรพันธุ์๙

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง