รีเซต

ลอยกระทงเข้มโควิด ระวังจมน้ำ-พลุ-ดอกไม้ไฟด้วย

ลอยกระทงเข้มโควิด ระวังจมน้ำ-พลุ-ดอกไม้ไฟด้วย
TNN Health
18 พฤศจิกายน 2564 ( 16:40 )
99
ลอยกระทงเข้มโควิด ระวังจมน้ำ-พลุ-ดอกไม้ไฟด้วย

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงวันลอยกระทง ระมัดระวังอุบัติเหตุการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และการจมน้ำ พร้อมเน้นย้ำมาตรการลอยกระทงวิถีใหม่ห่างไกลโควิด


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการ จุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง และสูญเสียอวัยวะสำคัญได้ รวมถึงให้ระวังอุบัติเหตุการจมน้ำโดยให้ยึดหลัก 4อ. พร้อมทั้งเน้นย้ำมาตรการ "ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” จัดงานปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวัฒนธรรม


สำหรับวันลอยกระทงในปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งในปีนี้รัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงานเทศกาลลอยกระทงได้ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี แต่ให้จัดงานภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มงวด และให้พิจารณารูปแบบงานตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่


โดย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า นอกจากโรคโควิด 19 ที่ควรระวังแล้ว ในเทศกาลวันลอยกระทง มีประชาชนได้รับอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะสำคัญหรือเสียชีวิต และจมน้ำเสียชีวิต


จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2561-2563 พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15-29 ปี (ร้อยละ 32.1) รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-14 ปี (ร้อยละ 25.9) โดยอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3


ส่วนสถานการณ์การจมน้ำในช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า วันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิต 55 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-59 ปี (ร้อยละ 34.5) และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 1 ใน 5


สำหรับคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้

1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว

2.สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

3.ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้

4.หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน


ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้ว หรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้ และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 อย่างไรก็ตามการเล่นดอกไม้ไฟจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


ส่วนคำแนะนำป้องกันการจมน้ำช่วงลอยกระทง สำหรับประชาชน มีดังนี้

1.ลอยกระทงอย่างปลอดภัย ให้ยึดหลัก 4 อ. “อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ อย่าลงไปเก็บกระทง/เงินในกระทง อย่าก้มไปลอยกระทง อย่าดื่มสุรา”

2.อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงเพียงลำพัง แม้แต่ในกะละมัง ถัง โอ่ง เพราะอาจพลัดตกน้ำเสียชีวิตได้


และสำหรับหน่วยงาน คือ

1.กำหนดพื้นที่สำหรับจัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันการพลัดตกน้ำ 2.จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ 3.สำหรับการเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง
4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาการจัดงาน


นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ตามแนวคิด “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” สำหรับผู้จัดงาน ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา บริเวณงานทำความสะอาดจุดร่วมสัมผัส มีจุดคัดกรองไข้และบริการแอลกอฮอล์เจล ลดความแออัดในงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค และยึดหลักป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ที่มา : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง