รีเซต

ทักษิณเป็นผู้สร้าง "ดีเอสไอ" เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบยุติธรรม แต่เป็น “ดาบสองคม” มาถึงตัวเอง | Chronicles

ทักษิณเป็นผู้สร้าง "ดีเอสไอ" เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบยุติธรรม แต่เป็น “ดาบสองคม” มาถึงตัวเอง | Chronicles
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2567 ( 12:07 )
30
ทักษิณเป็นผู้สร้าง "ดีเอสไอ" เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบยุติธรรม แต่เป็น “ดาบสองคม” มาถึงตัวเอง | Chronicles



สมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศไทย 2 สมัย เขาได้สร้างนโยบายระดับตำนานที่เป็นคุณแก่ประเทศไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP, นโยบายกองทุนหมู่บ้าน และนโยบายหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน หรือ ODOS เป็นต้น


แม้ในเชิงนโยบาย จะสร้างคุณูปการไว้มาก แต่ในเรื่องการจัดตั้ง “องค์กรอิสระ” แล้ว กลับเกิดการตั้งคำถามว่า เป็นการเดินเกมพลาดของทักษิณหรือไม่ โดยเฉพาะการจัดตั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation)” หรือ “DSI” ที่กลับมาทำร้ายเขาในที่สุด


ทักษิณกับความยุติธรรม


ดีเอสไอก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 หมวดที่ 14 มาตราที่ 33 มีสถานะเป็นกรม ขึ้นต่อกระทรวงยุติธรรม ส่วนสาเหตุที่แยกออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดิม เพราะต้องการ “ปฏิรูประบบราชการ” โดยเฉพาะราชการตำรวจที่มีความเชื่องช้า ไม่ทันต่อคดีที่มีความสลับซับซ้อน หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการก่ออาชญากรรม อาทิ อาชญากรรมไซเบอร์ สแกมเมอร์ หรืออาชญากรรมข้ามชาติ


การปฏิรูปดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มาจาก ทักษิณ ชินวัตร ที่ ณ ตอนนั้นได้ “แปรรูปราชการและรัฐวิสาหกิจ (Privatisation)” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของงบประมาณข้าราชการให้ไปบริหารจัดการกันเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  และตอบสนองต่อการให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แม้แต่ในฝ่ายกระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีข้อยกเว้น


ดีเอสไอนั้นทำ “คดีพิเศษ” โดยมีกรอบที่ว่าต้องเป็นคดีอาญาตามกฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้าย พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) หรือคดีอาญาที่ได้กำหนดเป็นกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งคดีดังกล่าวต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้


  • คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
  • คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่งคงของประเทศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
  • คดีความผิดทางอาญาทีมีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
  • คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
  • คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใชพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา


การทำเช่นนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนและฐานเสียงของนายทักษิณ เพราะถือเป็นการโยกความรับผิดชอบเรื่องกระบวนการยุติธรรมให้ออกมาห่างมือวงการตำรวจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง  โดยคาดหวังว่าภายใต้บ้านใหม่นาม DSI แม้จะไม่ได้พิจารณาทุกคดีที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อย ๆ คดีพิเศษที่ส่งผลกระทบอย่างทันควันและร้ายแรงต่อบ้านเมือง ก็จะได้รับการสอบสวนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


แต่ก็มีจุดที่สื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจ เพราะทักษิณได้มีโยกย้าย “คนสนิท” ของตนให้เข้ามามีบทบาทในดีเอสไอจำนวนมาก ในช่วงที่เขามีอำนาจบริหารอย่างสูง ช่วงปี 2549 อาทิ 


  • จุมพล มั่นหมาย เพื่อนร่วมรุ่นนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 26 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
  • พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 
  • วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาทักษิณ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 
  • วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทักษิณ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการธนาคาร


สิ่งที่สื่อมวลชนและนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์กันว่า การแต่งตั้งคนสนิทเช่นนี้ จะทำให้ทักษิณสามารถเข้าไปคุมองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ 


กรณีนี้ ถูกพูดถึงมากในคดี “สมชาย นีละไพจิตร” ทนายนักสิทธิมนุษยชนแม้จะมีการรับเป็นคดีพิเศษ แต่กลับสืบสวนได้อย่างล่าช้า โดยทักษิณ เคยกล่าวว่า “นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ต้องหาในคดีเจไอ ไม่ได้หายตัวไปไหน เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยา จึงหลบมาอยู่กรุงเทพฯ และขาดการติดต่อกับคนอื่น”


รวมถึงการลั่นวาจาในตำนาน “UN ไม่ใช่พ่อ!” เนื่องจากโกรธที่คณะทำงานด้านผู้สูญหายคนหายของสหประชาชาติมีมติรับคดีของนายสมชายเป็นคดีคนหายของคณะทำงานด้านผู้สูญหายของสหประชาชาติ หมายเลขคดี case no. 1003249 


อยู่ไม่ได้จริง ๆ


เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 อิทธิพลของทักษิณต่อดีเอสไอ อาจกล่าวได้ว่า พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ 


เพราะหลังจากเขาต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไทย ดีเอสไอก็ปราศจากคนสนิทของทักษิณ และดีเอสไอเอง ก็เข้ามาดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับทักษิณหลายคดี อาทิ 


คำสั่งคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ภริยา กับพวกรวม 4 คนตกเป็นผู้ต้องหา กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 แต่ก็มีการยกฟ้องในภายหลัง 


การตั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงการประกาศสงครามยาเสพติดในปี 2546 ที่มีผู้เสียชีวิตราว 2,500 ราย


แต่ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุด คือ คดีพิเศษที่ 44/54 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์เข้ามาที่การชุมนุมของ นปช. ณ สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จ.เชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ 


คดีพิเศษที่ 101/53 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ 


และคดีพิเศษที่ 43/54 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แจกคำแถลงการณ์ที่มีเนื้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ต่อสื่อต่างประเทศ 


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง