ผู้ว่าฯกทม. มีคำตอบ! รู้หรือไม่โควิด-19 มีชีวิตอยู่ในที่ต่างๆ ได้นานแค่ไหน
วันนี้ (22เม.ย.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า รู้หรือไม่ COVID-19 มีชีวิตอยู่ในที่ต่าง ๆ ได้กี่วัน
การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่เมษายนนี้ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ คน สงสัยว่าเชื้อไวรัสอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้นานแค่ไหน
ข้อมูลจากองค์การอนามัย โควิดสามารถแพร่กระจายผ่านฝอยละอองจากการไอ จาม เหมือนกับโรคที่เกิดจากไวรัสทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่ติดต่อได้ทาง "ละอองฝอย" การไอเพียงครั้งเดียวสามารถสร้างละอองฝอยได้ถึง 3 พันหยด ซึ่งอาจไปถูกตัวคนอื่น ไปอยู่ตามเสื้อผ้าและพื้นผิวโดยรอบ แต่บางส่วนก็สามารถลอยอยู่ในอากาศได้
จึงทำให้เราทุกคนต้องระวังในการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ที่จะต้องใช้มือหยิบจับวัตถุสิ่งของในที่สาธารณะ เช่น ธนบัตร ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับบนรถเมล์รถไฟฟ้า ราวบันได ฯลฯ ที่อาจมีไวรัสปนเปื้อนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเราสัมผัสวัตถุเหล่านั้นแล้ว เผลอนำปลายนิ้วมาแตะขอบตา สัมผัสใกล้รูจมูก หรือแม้แต่มุมปาก ก็อาจทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดอยู่ และแพร่เชื้อต่อได้บนพื้นผิวต่างๆ โดยจะมีชีวิตอยู่ได้นานแตกต่างกัน ดังนี้
เชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองฝอยน้ำมูก น้ำเสมหะ น้ำลาย และน้ำตา จะอยู่รอดในอากาศได้เพียง 5 นาที
เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่บนวัสดุ เช่น พื้น โต๊ะ ลูกบิดประตู ได้นาน 7-8 ชั่วโมง
เชื้อไวรัสอยู่ในผ้าหรือกระดาษทิชชูได้นาน 8-12 ชั่วโมง
เชื้อไวรัสอยู่บนวัสดุพื้นเรียบได้นาน 24-48 ชั่วโมง
เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นาน 4 วัน
ในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส เชื้อไวรัสอาจอยู่ได้นานถึง 1 เดือน
การประเมินในลักษณะนี้ รวมถึงเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น เชื้อไวรัสโรค SARS และโรค MERS ไม่ใช่เฉพาะ COVID-19 เท่านั้น
เมื่อเชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน การป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยทำความสะอาดด้วยพื้นผิวสัมผัส โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสร่วม หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากตลอดเวลา