รีเซต

เปิดสเปกเครื่องบินรบ FA-50 กับโค้งสุดท้ายก่อนกองทัพอากาศไทยตัดสินใจ

เปิดสเปกเครื่องบินรบ FA-50 กับโค้งสุดท้ายก่อนกองทัพอากาศไทยตัดสินใจ
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2567 ( 16:56 )
47

เปิดสเปกเครื่องบินรบ FA-50 จากเกาหลีใต้ ที่ร่วมสนามศึกการขายของ JAS 39 Gripen E/F และ F-16 Block 70/72 ให้กับกองทัพอากาศไทย ก่อนที่ทางกองทัพอากาศจะประกาศผลการคัดเลือกและพิจารณาเบิกจ่ายงบประมาณ


สเปกทั่วไปเครื่องบินขับไล่ FA-50 ของเกาหลีใต้

FA-50 Block 20 เป็นเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจแบบเบา (light multirole fighter jet) จากบริษัท Korea Aerospace Industries (KAI) ของเกาหลีใต้ โดยเป็นเครื่องบินแบบ 2 ที่นั่ง มีพิกัดน้ำหนักขึ้นบิน (Max takeoff weight: MTOW) อยู่ที่ 12,383 กิโลกรัม (26,929 ปอนด์)


ตัวเครื่องบินใช้เครื่องยนต์ เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric: GE) รุ่น F404-GE-102 เป็นเครื่องยนต์ความเร็วเหนือเสียงที่ได้กำลังแบบ afterburning turbofan ซึ่งเป็นรุ่นที่ Samsung ได้สิทธิ์ผลิต ทำความเร็วสูงสุด 1,837.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 1.5 มัค (Mach) ระยะการบินรบ (combat range) อยู่ที่ 444 กิโลเมตร ระยะการบินสูงสุด 1,851 กิโลเมตร เพดานการบินอยู่ที่ 14,630 เมตร หรือ 48,000 ฟุต และมีขอบเขตแรงจี (g limits) : −3 - 8 


อาวุธของเครื่องบินขับไล่ FA-50 ของเกาหลีใต้

โดยอาวุธที่สามารถใช้งานได้บน FA-50 นอกจากปืนใหญ่อากาศ GE แบบ M197 ขนาด 20 มิลลิเมตร แล้ว ยังมีจุดติดตั้งอาวุธ (Hardpoint) อยู่ทั้งหมด 7 จุด โดย 4 จุดอยู่ใต้ปีกฝั่งละ 2 จุด และปลายปีกฝั่งละ 1 จุด พร้อมจุดติดตั้งใต้ลำตัวอีก 1 จุด รองรับการติดตั้งจรวดและระบบอำนวยการรบ ดังนี้


  1. 1. จรวดต่อต้านอากาศยาน (Air-to-air missile) แบบ AIM-9 Sidewinder และ AIM-120 AMRAAM 
  2. 2. จรวดโจมตีภาคพื้นดิน (Air-to-ground missile) แบบ AGM-65 Maverick
  3. 3. จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ (Anti-ship missiles) แบบ Joint Strike Missile 
  4. 4. ระเบิดแบบ CBU-97/105 Sensor Fuzed Weapon รวมถึงแบบ GBU-12  และแบบ Joint Direct Attack Munition หรือ JDAM
  5. 5. กระเปาะระบุเป้าหมายและฝ่ายแบบ Sniper Advanced targeting Pod (Sniper ATP)


ความแตกต่างระหว่าง FA-50 กับ JAS 39 Gripen E/F และ F-16 Block 70/72 

ความแตกต่างระหว่าง FA-50 กับ Gripen E/F และ F-16 Block 70/72 สามารถพิจารณาในแงขีดความสามารถและราคา 


ขีดความสามารถ FA-50 เทียบคู่แข่ง

ระยะการบินรบ (Combat range) ที่เครื่องบินขับไล่แบบเบา FA-50 ทำได้ 444 กิโลเมตร ในขณะที่รุ่น F-16 จะสามารถทำได้ที่ 546 กิโลเมตร ในภารกิจแบบ Hi-lo-Hi ที่เป็นภารกิจเน้นรีดกำลังและทำเวลาสูงสุด ส่วนเครื่องบินขับไล่ Gripen มีระยะการบิน (Combat range) อยู่ที่ 1,500 กิโลเมตร

 

ในขณะที่อาวุธและระบบอำนวยการรบของ Gripen เป็นรายเดียวในเครื่องบินรบที่เสนอมาทั้ง 3 ลำ ที่สามารถติดตั้งเมเทออร์ (Meteor) หนึ่งในจรวดต่อต้านอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในโลก ตลอดจนระบบ IRST (Infrared search and track) ที่ FA-50 เป็นเพียงรายเดียวที่ไม่รองรับ โดยระบบนี้มีความสำคัญอย่างมากในการติดตามและระบุเป้าหมายแบบ 360 องศารอบตัวเครื่องบิน


ราคาของ FA-50 เทียบกับคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยในด้านขีดความสามารถในการรบ ก็คือราคาค่าบำรุงรักษาสำหรับการบิน หรือต้นทุนต่อชั่วโมง (Cost Per Hour: CPH) โดยเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 มีต้นทุนการบินชั่วโมงละ 170,000 - 249,000 บาท ในขณะที่เครื่องบินขับไล่แบบ Gripen E/F คาดว่ามีต้นทุนชั่วโมงละ 110,000 - 200,000 บาท 


ทั้งนี้ ผู้บริหารของ KAI เคยให้ข้อมูลว่า เครื่องบินขับไล่แบบเบารุ่น FA-50 จะมีค่าใช้จ่ายในการบินต่อชั่วโมงถูกกว่า F-16 ถึงครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นชั่วโมงละประมาณ 85,000 บาท 


ในขณะที่ราคาขายเครื่องบินต่อลำของ FA-50 อาจจะมีราคาในระดับประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากสเปกเครื่องบินฝึกรุ่นพิเศษ T-50TH ที่กองทัพอากาศไทยจัดซื้อ เนื่องจาก T-50 มีลักษณะโครงและระบบพื้นฐานการบินเดียวกับ FA-50 แต่ FA-50 มีการติดอาวุธ ซึ่ง T50-TH ก็มีการปรับปรุงให้รองรับการติดอาวุธหลากหลายประเภทเช่นเดียวกับ FA-50 โดยที่ราคาต่อลำของเครื่องบินขับไล่ Gripen นั้นตกลำละประมาณ 3,000 ล้านบาท และ F-16 Block 70 เฉลี่ยลำละ 5,800 ล้านบาท


ข้อมูลจาก KAI, EurasiantimesWikipedia

ภาพจาก Wikipedia


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง