รีเซต

โกลบอลโฟกัส : ต้นกำเนิดโควิด-19 รั่วไหลจากห้องทดลองอู่ฮั่น?

โกลบอลโฟกัส : ต้นกำเนิดโควิด-19 รั่วไหลจากห้องทดลองอู่ฮั่น?
มติชน
8 มิถุนายน 2564 ( 06:10 )
89

 

เกือบตลอดทั้งปี 2020 นักวิทยาศาสตร์และสื่อส่วนใหญ่ของโลก มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ซาร์ส-โควี-2 หรือ เชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดขนานใหญ่ในผู้คนจำนวนมากทั่วโลกนั้น มีต้นตอมาจากสัตว์ เป็นการก่อกำเนิดโรคอุบัติใหม่ตามกระบวนการของธรรมชาติ แบบที่นักวิชาการเรียกว่า “ซูโนติค สปิลโอเวอร์” (zoonotic spillover) นั่นเอง

 

 

รายงานของนักวิชาการด้านการแพทย์และระบาดวิทยานานาชาติที่เดินทางเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในจีน เมื่อไม่นานมานี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ซูโนติค สปิลโอเวอร์ มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในขณะที่ การรั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการทดลองของจีนนั้น เป็นไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุด

 

 

แต่ในเวลานี้ ทฤษฎีที่ว่าโควิด ถือกำเนิดมาจากห้องทดลอง กลับมาได้รับความสนใจสูงอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ออกมายอมรับว่า ยังไม่มีการตรวจสอบตามสมมุติฐานนี้ถี่ถ้วนเพียงพอ

 

 

สมทบด้วยคำสั่งของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกัน ที่สั่งการให้ หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาทุกหน่วย “ทำงานหนักเพิ่มเป็นสองเท่า” เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่า โควิด รั่วไหลจากห้องทดลองหรือไม่

 

 

สมมุติฐานที่ว่า โควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องปฏิบัติการทดลองเรื่องไวรัสของจีนในเมืองอู่ฮั่น นั้น มีมาตั้งแต่แรกเริ่มที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในจีนแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยง่ายๆ ที่ว่า ให้บังเอิญ สถาบันวิจัยทางไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (ดับเบิลยูไอวี) อยู่ห่างจาก ตลาดค้าสัตว์เป็นและอาหารทะเลแห่งอู่ฮั่น สถานที่แรกที่การแพร่ระบาดอุบัติขึ้นเพียง 12 กิโลเมตร

ดับเบิลยูไอวี เป็นหนึ่งในห้องทดลองของ เครือข่ายสถาบันศึกษาวิจัยทางไวรัสวิทยาของโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยไวรัสทั้งหลายในท้องถิ่นต่างๆ ของโลก หาหนทางป้องกันหรือลดโอกาสไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมาสู่คน

 

 

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคแห่งอู่ฮั่น (ดับเบิลยูซีดีซี) ซึ่งมีการศึกษาวิจัยโดยการเก็บตัวอย่างไวรัสจากค้างคาวอยู่ด้วยเช่นกัน อยู่ห่างจากตลาดอู่ฮั่นที่เป็นแหล่งระบาดแรกเพียง 500 เมตร

 

 

แนวคิดที่เชื่อมโยงสถานที่ทั้งสองนี้เข้ากับโควิด-19 ก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เกิดอุบัติเหตุขึ้นในห้องทดลองที่ใดที่หนึ่งในสองสถานที่นี้ หรือแม้แต่จากการทำงานภาคสนาม จนทำให้ไวรัสจากค้างคาว ถูกถ่ายทอดตรงเข้าสู่เจ้าหน้าที่วิจัย ซึ่งเป็นผู้นำเอาเชื้อดังกล่าวออกมาสู่โลกภายนอกแล้วเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในที่สุด

 

 

ยิ่งมีรายงานของ วอลสตรีท เจอร์นัล โดยอ้างแหล่งข่าวในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ก่อนหน้าเกิดการระบาดที่อู่ฮั่น มีเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการทดลอง 3 รายล้มป่วยถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล

 

 

สมมุติฐานว่าด้วยโควิด-19 กำเนิดจากห้องทดลอง ก็ดูมีความสมจริงมากขึ้น ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

******

 

สือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาระดับด็อกเตอร์ชาวจีน ที่มีผลงานวิจัยโด่งดังเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลก คือหัวหน้าศูนย์ เพื่อการวิจัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ในสังกัด ดับเบิลยูไอวี

 

 

ต้นปี 2020 เธอให้สัมภาษณ์นิตยสาร ไซเอนทิฟิคอเมริกัน ความว่า ทันทีที่รู้ว่าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กังวลแรกของเธอก็คือ ไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้หลุดออกมาจากห้องทดลองของเธอหรือไม่

 

 

หลังจากตรวจสอบประวัติและบันทึกการจำแนกพันธุกรรมไวรัสของศูนย์ฯทั้งหมด เธอสรุปว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

 

นั่นแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัยในด้านนี้ อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลออกมาเป็นไปได้เสมอ

 

 

ในรายงานของ ดิ อีโคโนมิสต์ ระบุเอาไว้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา การรั่วไหลของเชื้อจากห้องทดลองเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนชวนอึดอัดคับข้องใจ

 

 

ตัวอย่างเช่น การระบาดครั้งหลังสุดของไข้ทรพิษที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น เกิดจากการที่เชื้อรั่วไหลออกมาจากห้องทดลองในประเทศอังกฤษในปี 1978

 

 

หรือในกรณีของโรคอุบัติใหม่ในระยะหลังอย่าง โรคซาร์ส ที่เกิดจากไวรัส ซาร์ส-โควี-1 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2003 ก็เกิดการรั่วไหลออกมานอกห้องทดลองถึง 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งที่ห้องทดลองในประเทศสิงคโปร์ อีกครั้งในไต้หวัน

 

 

ในปี 2004 ห้องทดลองแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ก็เคยทำ ซาร์ส-โควี-1 หลุดออกสู่ภายนอกถึง 2 ครั้งเช่นเดียวกัน

 

 

ในเดือนธันวาคม ปี 2019 เจ้าหน้าที่และนักศึกษามากกว่า 100 คนของศูนย์วิจัยการเกษตร 2 แห่ง ในหลันโจว ก็ล้มป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บรูเซลโลซิส ซึ่งก่อโรคโบรเซลโลซิสในปศุสัตว์เช่นวัว เป็นต้น

 

 

ว่ากันว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ เอช1เอ็น1 ที่ระบาดไปทั่วโลกในปี 1977 ก็เริ่มต้นจากในห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในพื้นที่ “ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย” ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการในรัสเซีย หรือไม่ก็ในประเทศจีนนั่นเอง

 

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ ก็ยังคงเป็นแค่ความเป็นไปได้ และการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ที่ว่า โควิด-19 รั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการแน่นอนอีกด้วย

 

******

 

ปัญหาใหญ่หลวงของการสอบสวนเพื่อหาต้นตอของ เชื้อ ซาร์ส-โควี-2 ที่เป็นตัวการก่อโรคระบาด โควิด-19 ก็คือ การไม่ให้ความร่วมมือ “อย่างเต็มที่” ของทางการจีน

 

 

เดอะ การ์เดียน สื่ออังกฤษ อ้างรายงานของ ปีเตอร์ เบน เอมบาเรค นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่ง ดับเบิลยูเอชโอ ส่งไปจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 แล้วกลับมาทำรายงานที่มีความตอนหนึ่งระบุว่า ทางการจีนดำเนินการ “น้อยมาก…ในแง่ของการสืบสวนสอบสวนเชิงระบาดวิทยาในอาณาบริเวณ อู่ฮั่น นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020”

 

 

แน่นอน ข้อมูลบางอย่างอาจสูญหายไป แต่ข้อมูลอีกหลายอย่างที่ควรมีอยู่ ทางการจีนกลับไม่ยอมแบ่งปันให้นักวิทยาศาสตร์จากภายนอกอื่นใดได้ร่วมรับรู้

 

 

ในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเพื่อควานหาต้นตอของการแพร่ระบาดครั้งนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลก ร้องขอ แต่กลับถูกปฏิเสธ ไม่ยอมให้ข้อมูลสำคัญทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ที่พบเป็นรายแรกๆ จำนวน 174 รายในเมืองอู่ฮั่นในเดือนธันวาคม 2019

 

 

ข้อมูลดังกล่าวมีนัยสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจการแพร่ระบาดครั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดสดอู่ฮั่น ไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดการระบาด แต่เป็นเพียงจุดที่เหมาะสมต่อการ “ขยายตัว” ของการแพร่ระบาด ข้อมูลโดยละเอียดของผู้ป่วยทั้ง 174 ราย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดสดทุกคน จึงมีความสำคัญในการควานหาแหล่งที่มาของการระบาดที่แท้จริง

 

 

ข้อโต้แย้งสมมุติฐานที่ว่า โควิด-19 มาจากห้องทดลองของจีนที่น่าสนใจที่สุด เป็นผลงานวิจัยทางวิชาการของ คริสเตียน จี. แอนเดอร์เสน นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ, พันธุวิศวกรรมและภูมิคุ้มกันวิทยา จากแผนก ภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยา ของสถาบันคริบบ์ ในเมืองลาโฮลยา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

 

แอนเดอร์เสนและคณะ วิจัยพันธุกรรมของซาร์ส-โควี-2 อย่างละเอียด แล้วสรุปเอาไว้ว่า ไม่พบร่องรอยของ “เบต้าโคโรนาไวรัส” ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการทดลองใดๆ เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ในห้องทดลองทั่วโลก “เท่าที่มีอยู่”

 

 

นั่นเป็นคำตอบที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงที่สุดกับการเป็นหลักฐานโดยตรง ที่บ่งชี้ว่า โควิด-19 ไม่ได้เกิดจากห้องทดลอง แม้จะไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ถ้าเป็นการทดลองเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสแบบใหม่ที่ แอนเดอร์เสนและคณะยังไม่รู้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีร่องรอยของ เบต้าโคโรนาไวรัส ใช่หรือไม่? ก็ตาม

 

 

ผู้สังเกตการณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่า สมมุติฐานที่ว่าโควิดเกิดจากห้องทดลอง มีการกล่าวขวัญกันมากขึ้นเพราะหลักฐานที่พิสูจน์ความเป็นไปได้ที่ว่า มันคือโรคที่อุบัติขึ้นตามกระบวนการโดยธรรมชาติ ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น จนสามารถชี้ชัดได้ ทำให้ข้อเคลือบแคลงเรื่อง ห้องทดลอง ยิ่งมีคนหันมาพิจารณา พิเคราะห์กันมากขึ้น ทั้งๆที่ทุกอย่างเป็นเพียงหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น

 

 

ยิ่งทางการจีนไม่ให้ความร่วมมือ หรือปกปิดข้อมูลมากเท่าใด ความเคลือบแคลงสงสัยก็ยิ่งทวีมากขึ้น

 

 

จีนไม่ต้องการรู้ ไม่อยากให้มีการสืบสวนสอบสวน เพราะอะไร? ใช่เป็นเพราะว่า จีนรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่า คืออะไร?

 

 

 หรือไม่ก็คิดว่าคำตอบที่ได้คือสิ่งที่ตนเองกลัวและหวั่นวิตกกันแน่?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง