รีเซต

โมเดลธุรกิจ Gen Alpha “คิด-ค้า-ขาย” ให้ปังจาก “ความชอบ”

โมเดลธุรกิจ Gen Alpha “คิด-ค้า-ขาย” ให้ปังจาก “ความชอบ”
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2565 ( 19:24 )
77
โมเดลธุรกิจ Gen Alpha “คิด-ค้า-ขาย” ให้ปังจาก “ความชอบ”

     “เวลาว่างคือเวลาที่เป็นอิสระ ได้ทำอะไรตามที่ตัวเองชอบ เวลาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และเป็นเวลาอื่นนอกเหนือจากเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน” 

     เป็นข้อสรุปและมุมมองของเด็กและเยาวชนที่ได้จากการวิจัย “โครงการกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน” โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ต้องการค้นหาความชอบ ความสนใจ สิ่งที่อยากเรียนรู้ และลงมือทำในช่วงเวลาว่างของเด็กๆ  

     เมื่อค้นพบว่าเด็กและเยาวชนอยากเรียนรู้เรื่องอะไร สสส. จึงร่วมกับ กทม. จึงนำข้อมูลจากงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตรงใจวัยรุ่น ในชื่อ “BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาค้นหาทักษะ ความถนัด และความสนใจในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ “อาชีพ” ในฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ YouTuber นักแสดง นักดนตรี เชฟ ขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ

     โดยได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองจากไอดอลในแต่ละสาขาอาชีพ ที่ตอบโจทย์ความสนใจและความฝันในการเป็นทั้งเจ้าของกิจการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ อย่าง “โฟกัส”  ธันย์สิตา อริยะรุ่งรัตน์ เจ้าของร้านคุณนายเบเกอรี่ ขายขนมโดนัทชิ้นละ 5 บาท และ “ริสา” มาริสา เวชสุภาพร มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ เจ้าของธุรกิจขนมคีโตเพื่อสุขภาพ ที่ทั้งคู่ล้วนมียอดขายหลักล้านต่อเดือน

     “จุดแรกเริ่มมาจากความคิดที่ว่า เงิน 5 บาท ซื้ออะไรแล้วอิ่มท้อง” 

     เป็นมุมมองและแนวคิดแบบเด็กๆ ของน้อง “โฟกัส”  ที่ตอนนั้นมีอายุเพียง 13 ปี ประกอบกับทางบ้านมีพื้นฐานในการทำร้านเบเกอรี่ แล้วก็เป็นชอบกินโดนัท เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 “โฟกัส” จึงใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์มาช่วยแม่ทำขนม ประกอบกับขนมแพนเค้กญี่ปุ่นที่ทำมาขายก็เกิดขายไม่ค่อยออกเพราะมีราคาที่สูงไป เธอจึงเสนอไอเดียให้แม่เปลี่ยนมาทำโดนัทแทน

     “พอดีคุณแม่ชอบทำให้ชิม เลยเสนอไอเดียว่าลองมาทำเป็นโดนัทดูไหม ตั้งใจแต่แรกว่าเสนอให้แม่ขายชิ้นละ 5 บาท ราคานี้คืออินมาจากตัวเอง ที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ บางทีเงิน 5 บาทในกระเป๋า ถ้าสามารถซื้อของกินที่อิ่มท้องได้ก็น่าจะดี ประกอบกับเป็นช่วงสถานการณ์โควิดด้วย ก็เลยลองทำขาย แต่ที่บ้านก็กลัวว่าจะขาดทุน เลยตั้งราคาชิ้นละ 10 บาท ปรากฏว่าตั้งแต่เช้ายันบ่าย ขายไม่ได้เลย ก็เลยลองเปลี่ยนมาขาย 5 บาท ตามที่ตั้งใจแต่แรก กลับกลายเป็นว่า บูมขึ้นมา เพียงแค่ชั่วโมงเดียว ขายหมดเกลี้ยง”

     จากนั้นชื่อเสียงของโดนัท 5 บาท ที่ตรงความต้องการและงบประมาณในประเป๋าของเด็กๆ แถมยังอร่อยเกินราคา ก็ถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปาก บางวันที่ขายดีมากๆ มียอดขายเกือบ 1 หมื่นชิ้นต่อวัน และใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในการโปรโมทสินค้าและรับออเดอร์ควบคู่กันไป จนปัจจุบันพัฒนาไปเป็นสู่การจำหน่ายแป้งโดนัทสำเร็จรูปแช่แข็งเพื่อให้คนที่สนใจสามารถนำไปขายต่อได้

     “ตลาดโดนัทหรือเบเกอรี่ไม่ได้ใหม่ในเมืองไทยแล้ว มีขายกันเกร่อ เราก็ต้องหาจุดเด่นของเรา นอกเหนือจากที่ราคา 5 บาทแล้ว คุณภาพและความอร่อยนั้นเกินราคา ซึ่งหลายคนคิดว่า 5 บาท แป้งคงจะแข็งๆ ทื่อๆ แต่พอได้ชิมแล้ว พบว่าแป้งมันนุ่ม อร่อยเกินราคา เพราะเราใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีมูลค่า” น้องโฟกัสเล่าถึงจุดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับโดนัทจากร้านของเธอ 

     แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ “โฟกัส” ฝากถึงเพื่อนๆ ทุกคนที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจและประสบความแบบเธอก็คือให้เริ่มต้นจาก “สิ่งที่ชอบ” ก่อน

     “สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบก่อน หาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนตัวเริ่มต้นตอนอายุ 13 ก็คือถ้าหนูเริ่มได้ทุกคนก็น่าจะเริ่มได้ ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย” น้องโฟกัสระบุ

     ด้านน้อง “ริสา” มาริสา เวชสุภาพร เจ้าของธุรกิจขนมคีโตเพื่อสุขภาพ ก็มีจุดเริ่มต้นในการเป็นเจ้าของธุรกิจไม่แตกต่างกัน นั่นก็คือ “ความชอบ”

     “เป็นคนชอบกิน คนอื่นมาทำให้กินก็ไม่ถูกใจ จึงเริ่มมาทำเองทั้งขนมและอาหาร ชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ หัดทำขนมและอาหารต่างๆแบบลองผิดลองถูกเรื่อยมา โดยหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ตบ้าง ยูทูปบ้าง แล้วก็มาปรับสูตรเป็นสูตรของเราเอง” ริสาเล่า

     โดยจุดเด่นในการทำขนมของ “ริสา” คือการเน้นใช้วัตถุดิบที่ดี และมีราคาที่ขายไม่แพงจนเกินไป นัก ซึ่งคนที่ทานคีโตเพื่อสุขภาพ จะรู้ดีว่าขนมปังคีโต 1 แผ่น ที่ขายกันทั่วๆไป ราคาก็เกือบ1ร้อยแล้ว ซื้อ แต่ของเธอเองนั้น ขายเป็นโรพ (ROPE) เท่ากับ 13 แผ่น ในราคาเพียง 180 บาท เพราะอยากให้คนที่ซื้อของไป ซื้อไปได้ทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างมีความสุข โดยที่มีราคาไม่แพงเกินไปนัก   

     ส่วนการจัดสรรเวลาเรียนและการทำขนมนั้น “ริสา” บอกว่าจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาโพสต์ Facebook เพื่อรับพรีออเดอร์สั่งซื้อสินค้า และเร่งทำตามที่ลูกค้าสั่งเข้ามาเพื่อส่งให้ได้ในวันถัดไป ซึ่งเธอรู้สึกว่าสนุกในการทำงาน ไม่เหนื่อย เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ

    “สำหรับเพื่อนๆที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น ก็จะแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสเข้ามา ก็ให้รีบคว้าเอาไว้ ให้ลงมือทำทันที อย่ากลัวที่จะลงมือ เพราะแม่สอนเสมอว่าชีวิตเป็นของหนู หนูต้องดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องพยายามทำอะไรของตัวเองด้วยตัวเองก่อน และเอาความชอบที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์” น้องริสาระบุ

     ซึ่งการเปิดพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ มีความสำคัญสำหรับการสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่จำเป็นสำหรับโลกและการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 โดย สสส.เตรียมขยายผลการดำเนินงานปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ออกไปในระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องตามความสนใจของเด็กและเยาวชน

     สอดคล้องมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ระบุว่า สิ่งที่เด็กและเยาวชนชอบที่สุดก็คือ การได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่อยากทำในวันหยุด เด็กยุคนี้เองเมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีคำตอบที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพต่างๆ ที่เห็นชัดเจน 

     “หลายคนอยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจออนไลน์  อยากเป็นChef  อยากเป็น YouTuber อยากเป็นนักแสดงฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน และเป็นสิ่งที่จะติดตัวของเด็กและใช้ในชีวิตของเขาระยะยาวต่อไป” ผจก.สสส.กล่าวสรุป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง