รีเซต

ใช้ความ “ชอบ”พัฒนาทักษะสู่ “อาชีพ” โลกออนไลน์

ใช้ความ “ชอบ”พัฒนาทักษะสู่ “อาชีพ” โลกออนไลน์
TNN ช่อง16
20 ตุลาคม 2565 ( 16:06 )
59

          โลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในทุกทวีปทั่วโลก เป็นทั้งเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร แหล่งสาระความรู้ ความบันเทิง และยังเป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก


          ภายในงาน “BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO ที่ สสส. ร่วมกับ กทม. จัดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ ได้มีการเปิดเวทีพูดคุยกับไอดอลของคนรุ่นใหม่ในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาสิ่งที่ชอบ ต่อยอดพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์          โดยเฉพาะการเล่นเกมส์ออนไลน์ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมยามว่างยอดนิยมของเด็กและเยาวชนในยุคนี้ ที่มองเผินๆ อาจเห็นว่าเป็นแค่เรื่องความสนุก แต่ในปัจจุบันสามารถยกระดับไปเป็นอาชีพได้  

ซึ่ง “โค้ชป้อม” จักรพล ป้อมปราณี วิศวกรไฟฟ้า กฟผ. โค้ชกีฬาอีสปอร์ต(E-Sports) ทีมชาติไทย ที่นำทีมนักกีฬาไปคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้ 2 เหรียญ เล่าให้ฟังว่า การเล่นเกมส์นั้นนอกจากจะมีรายได้จากการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปเป็น Game Streamer / YouTuber หรือเป็นโค้ชแบบตัวเขาเองได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือการรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม


          “ช่วงที่ยังเรียนมัธยม ส่วนใหญ่จะเล่นเกมตอนหลังเลิกเรียน เล่นเต็มที่ ยกเว้นช่วงใกล้สอบและช่วงสอบจะไม่เล่นเลย จะตั้งใจอ่านหนังสือสอบให้เต็มที่ จนมาถึงช่วงวัยทำงาน เป็นวิศวกรการไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 8 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็น ส่วนงานด้านโค้ช ก็เป็นงานเสริม ที่อาศัยประสบการณ์การเล่นเกมส์มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.2 จนถึงช่วงที่ทำงาน ซึ่งเคยได้แชมป์ระดับประเทศ MOBA Legend และ ROV อยู่หลายปี” โค้ชป้อมกล่าว


          แต่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนั้นไม่ได้หมายความว่า จะต้องมุ่งมั่นอยู่กับการเล่นเกมส์โดยไมต้องไปสนใจเรื่องการเรียนหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งในเรื่องนี้นั้น “โค้ชป้อม” ได้สอนน้องๆ ทุกคนเสมอว่า ช่วงชีวิตของนักกีฬา นั้นจะมีช่วงที่ท็อปฟอร์มและขาลง วันไหนที่ไม่มีคนจ้างไปแข่งจะทำอะไรกิน


          “ถ้าไม่มีงานประจำเลย ก็จะไม่มีรายได้ สมมติอยู่ในวงการ เรียนจบใหม่ๆ เล่มเกมมา 4 ปีก็จริง แต่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านอื่นเลย มันก็อาจจะไปต่อด้านอื่นได้ยาก ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ส่วนคนที่มุ่งมั่นในทางนี้ก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อยอดไปเป็น Streamer หรือYouTuber เพื่อให้มีรายได้ทางอื่นๆ นอกจากเงินเดือน และเงินรางวัลจากการแข่ง” โค้ชป้อมระบุ

            ส่วนการพัฒนาทักษะจากมือใหม่ไปสู่มืออาชีพหรือเป็นโค้ชได้นั้นต้องอาศัยทักษะหรือสกิล และต้องรู้ข้อมูลของตัวเกมส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่นักกีฬาและโค้ชทุกคนต้องมี แต่การที่จะขยับขึ้นไปเป็นโค้ชนั้น จะต้องมองคู่ต่อสู้ให้ออก รู้รูปแบบวิธีการเล่นใหม่ๆ ที่จะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้


            “การจะมองให้ออกว่าคู่ต่อสู้เล่นประมาณไหน ต้องไปดูเขา ดูให้เยอะ ดูทีมอื่นๆ เล่น ดูตั้งแต่การซ้อม การแข่งของลีกอื่นๆ แล้วมาประยุกต์ให้เข้ากับทรัพยากรของนักกีฬาที่มีอยู่ในทีม ส่วนการเป็นโค้ชสิ่งสำคัญก็คือการยอมรับจากนักกีฬา เราต้องรู้ว่านักกีฬาต้องการอะไร และต้องทำให้นักกีฬายอมรับในตัวของเราให้ได้ ต้องสอนและอธิบายให้เขาเห็นเป็นภาพได้” โค้ชป้อมย้ำ


            “อยากให้มองว่าการเลนส์เกมส์ไม่ได้มีแค่มุมเดียวคือเป็นเด็กติดเกมส์ แต่มีมุมอื่นๆ ที่เป็นได้ทั้งอาชีพ และสามารถสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆ ได้ในอนาคต และอยากฝากว่าถ้าจะลงมือทำอะไร ให้เตรียมตัวมาเต็มที่ แล้วจะต้องลงมือทำให้สุดๆ จริงๆ ซึ่งถ้าได้รับมอบหมายงานอะไรมาแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบและต้องทำงานนั้นออกมาให้ดีที่สุด” โค้ชป้อมฝากทิ้งท้าย


            นอกจากวงการ E-Sport ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้คนทั่วทุกมุมโลกบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดย “เค้ง” ณภัทร อัสสันตชัย ศิลปินดิจิทัล ชั้น ม.ปลาย ผู้สร้างรายได้จากความความชอบและความสุขในการทำสิ่งที่รัก ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะบนโลกออนไลน์ กล่าวว่า ศิลปะ NFT คือการเปลี่ยนงานศิลปะชิ้นเดียวบนโลกของความเป็นจริง ให้กลายเป็นงานศิลปะบนโลกของออนไลน์

  

          “จุดเริ่มต้นมาจากการที่ตัวเองชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เวลาวาดรูปแล้วก็มีความสุข ได้ผ่อนคลายจากการเรียน  จนกลายมาเป็นกิจวัตรประจำวัน ต่อมาในปี 2020 ช่วงที่มีโควิด-19 ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ค่าขนม ก็เลยเอาสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วซึ่งก็คืองานศิลปะ นำมาออกเผยแพร่ในช่องทางโซเชียลต่างๆ  โดยเริ่มจากชิ้นแรกราคา 700 บาทก็ขายได้เลย” น้องเค้งเล่า

          ส่วนคนที่สนใจสร้างรายได้จากงานศิลปะ “เค้ง”บอกว่าอยากให้เริ่มจากศึกษาระบบ NFT ก่อนว่าทำงานยังไง และต้องแยกให้ออกระหว่างศิลปะที่เป็นรูปวาดปกติ กับศิลปะ NFT ซึ่งแตกต่างจากการวาดรูปจริงบนกระดาษ  ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาว่าลูกค้าหรือคนที่สนใจงานของเราเป็นใคร จะอาศัยเอาแต่ที่ตัวเองชอบอย่างเดียวไม่ได้


          “การวาดรูป NFT หรือศิลปะดิจิทัลนั้นทำได้หลายอย่างมากกว่าในกระดาษ  ซึ่งกระดาษขยับไม่ได้ มันไม่มีเสียง แต่ถ้าวาดแบบ NFT เราทำให้มันขยับได้ มีเสียงได้ เน้นที่ความหลากหลายของงาน และงานศิลปะจะมีแนวทางรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามนิสัยและอารมณ์ของศิลปินแต่ละคน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่างานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งงานศิลปะ NFT จะกำหนดราคา และกำหนดให้เป็นงานชิ้นเดียวในโลก โดยทุกวันนี้จะจัดสรรเวลาในการวาดรูปหลังเลิกเรียนในตอนกลางคืน” น้องเค้งระบุ

สำหรับคนที่สนใจอยากเป็น ศิลปิน NFT ก็มีคำแนะนำดีๆ จากเค้งว่า “ให้เริ่มต้นจากการมองหาสิ่งที่ชอบก่อน ถ้าเราชอบปุ๊บ เราตั้งใจกับมัน ไม่ว่าจะยังไง มันต้องได้ผลสักอย่าง จะเกิดรายได้ หรือไม่เกิดรายได้ ก็ว่ากันอีกเรื่อง ถ้าเราชอบอะไรแล้วเราเข้าใจกับมันจริงๆ สิ่งนั้นก็คือความถนัด”

“ปีหนึ่งๆ มีวันหยุดมากกว่า 150 วัน เราพบว่าเป็นช่วงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าในห้องเรียนเสียอีก แล้วเขาสามารถที่จะใช้ช่วงเวลานี้ไปเรียน ไปศึกษา ไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ สสส. อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของวันว่างแห่งการสร้างสรรค์ แล้วมาช่วยกันสร้างระบบการเรียนรู้คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา ซึ่งการมีพื้นที่เรียนรู้หรือ Learning Space เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21   เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง Event และความสนุกสนาน แต่ปิดเทอมสร้างสรรค์จะสร้างอนาคตให้กับเด็กไทยได้เป็นจำนวนมาก”  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ย้ำความสำคัญ.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง