รีเซต

สุพัฒนพงษ์ ยาหอมเศรษฐกิจไทยโต 4% ยันหนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง-คลังจับตา 7 ประเด็นเข็นจีดีพีโตต่อเนื่อง

สุพัฒนพงษ์ ยาหอมเศรษฐกิจไทยโต 4% ยันหนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง-คลังจับตา 7 ประเด็นเข็นจีดีพีโตต่อเนื่อง
ข่าวสด
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:56 )
44
สุพัฒนพงษ์ ยาหอมเศรษฐกิจไทยโต 4% ยันหนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง-คลังจับตา 7 ประเด็นเข็นจีดีพีโตต่อเนื่อง

สุพัฒนพงษ์ ยาหอม เศรษฐกิจไทยโต 4% ยันหนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง ลดลงกว่าครึ่ง -คลังจับตา 7 ประเด็นเข็นเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวปฐกถาพิเศษในงาน 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังมีสัญญาณเป็นบวก และเชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวฟื้นขึ้นมาอยู่ในโซนบวก หลังจากไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้

 

สำหรับความท้าทายระยะสั้นของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมพร้อมรับมือ โดยสำรองวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน 90 ล้านโดส รวมถึงเตรียมมาตรการต่า ๆ ในการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอื่น ๆ ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ามีจำนวนสูงขึ้นจนอาจส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินนั้น ยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวลดลงไปกว่าครึ่ง แต่ตัวเลขภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง จากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ข้าวของ สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง รัฐบาลได้เร่งเข้าไปแก้ไข เข้มงวดเรื่องการกักตุน และสามารถแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับตัวลดลงมา ขณะที่ราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ดูแลอย่างเต็มที่ โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลใช้หลักในการดูแลราคา โดยการตรึงพลังงานไม่ให้สูงเกินไป เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ฟื้นฟู เติบโต และรักษาระดับการแข่งขันของไทยต่อไป

 

"ที่บอกว่าราคาน้ำมันแพงมากที่สุดในโลก ต้องบอกว่าไม่จริง รัฐบาลต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าระดับราคาน้ำมันของไทยไม่ได้สูงไปมากกว่าประเทศในแถบอาเซียนที่มีสถานะเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน รวมถึงภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ไม่ถือว่าสูงมากนักเช่นกัน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ความท้าทายระยะยาวของเศรษฐกิจไทยนั้น รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ และอยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการฟื้นตัวผ่าน 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์-ยานยนต์ไฟฟ้า การท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล ยา และพลังงานสะอาด ตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยวิจัยด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนประเทศไหนจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจภายใน โดยในส่วนของประเทศไทย ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4% ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ดังนั้นต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจชะงักงัน

 

โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพบปัญหาในระยะสั้นที่สำคัญ คือ ปัญหาค่าครองชีพ และระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาจาก 2 เรื่องคือ 1. หมวดอาหาร โดยปัญหาที่ไทยแตกต่างจากประเทศต่าง ๆ คือปัญหาเรื่องสุกร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับเพิ่มตามนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการตรวจสอบสต็อกที่หายไป และมีมาตรการควบคุม กำกับราคาสินค้าในท้องตลาด และ 2. หมวดพลังงาน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมลำบาก เพราะเป็นปัญหาที่ประสบกันทั่วโลก จากความขัดแย้งของรัสเซียนและยูเครน ทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันยังแกว่งขึ้น-ลงในระยะสั้น แต่รัฐบาลก็ได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและภาคการผลิตไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร รวมถึงได้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือในส่วนดังกล่าว

 

"ถามว่าคลังเก็บภาษีดีเซล 5 บาทกว่า ทำไมลดแค่ 3 บาทต่อลิตร ต้องบอกว่าการลดภาษีต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ การสูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการจัดทำงบประมาณประจำปี ซึ่งจะมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องดูให้สมดุลกันระหว่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเข้าไปพยุง รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน กับการเข้าไปเสริมความช่วยเหลือโดยการใช้มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาภาระเรื่องต้นทุนการผลิต แต่เชื่อว่าปัญหาราคาพลังงานจะเป็นเรื่องระยะสั้นที่ต้องติดตาม” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในปี 2565 มีประเด็นสำคัญ 7 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4% แม้หลายคนจะบอกว่าต่ำเกินไป แต่อยากให้เข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ดังนั้นการเติบโตทุก 1% ต้องใช้แรงขับเคลื่อนมากพอสมควร โดยสิ่งแรกที่รัฐบาต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ผ่านโครงการอีอีซี โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้ไทยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งภาคผลิตและบริการ

 

2.เดินหน้าเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งจุดแข็งของไทยคือเทคโนโลยี 5G ที่มีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน จุดนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ 3. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก มี 2 เรื่องที่ต้องทำ คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรัฐบาลขับเคลื่อนผ่านนโยบานยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร เพื่อให้เกิดดีมานต์และส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย อีกเรื่องคือ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเรื่องนี้ไทยมีความก้าวหน้ามาก

 

4. การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่นอกเหนือจากการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ากับการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว หากมีการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ากับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศไทยได้

 

5.การเปลี่ยนแปลงภาคการเงิน เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สถาบันการเงินต้องปรับตัว จะมีการกู้เงินที่ไม่ผ่านสถาบันการเงินจะมีมากขึ้น ทั้งในลักษณะ Peer-to-Peer และ Crow Funding และ 6. การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล และภาคการผลิต โดยขณะนี้คลังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล ในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศให้เพิ่มขึ้น

 

7.ความยั่งยืนทางการคลัง โดยนโยบายการเงินและการคลังต้องสอดประสานกัน เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณานโยบายการคลังที่ยั่งยืน การบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่แม้จะขยายเพดานเป็น 70% ต่อจีดีพี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้เต็มเพดาน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความจำเป็น และวิกฤติที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการพัฒนาการคลังยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมองเรื่องการใช้จ่าย และการหามาซึ่งรายได้ การขยายหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึง โดยประเทศไทยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องมีแนวนโยบายในการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่เหมาะสมในอนาคต

 

"เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ได้สะท้อนผ่านนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ตรงนี้จะกระทบกับการเงินทั่วโลก กรณีของไทยเองการประสานนโยบายการเงินและการคลังทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนคำถามต่อไปว่าเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วของไทยจะขึ้นตามด้วยไหม ตรงนี้คงต้องรอฟังทาง ธปท.” นายอาคม กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง