ชี้ 3 ช่องทาง ลดหนี้ครัวเรือนไทยต่ำลง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แคนดิเดตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ กล่าวถึงมุมมองในการแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของประเทศไทย ในช่วงหนึ่งของการบรรยายในโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน“ ว่า การเดินหน้าแก้ไขหนี้ครัวเรือนบ้านเรา สามารถดำเนินการได้ใน 3 แนวทางสำคัญ ที่จะมีส่วนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ประมาณ 16.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 87 ต่อ GDP ในไตรมาสแรกปีนี้ ทยอยปรับลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ
1.ทำให้เศรษฐกิจหรือ GDP เติบโตได้มากกว่าเงินเฟ้อ เพราะ GDP โต คือเศรษฐกิจโตมีรายได้มากขึ้น และชำระหนี้ได้มากขึ้น และกระจายรายได้ออกไปมากขึ้น ให้คน SMEs หรือ คนฐานรากมีรายได้มากขึ้นด้วย
2.ดอกเบี้ยต้องลดลง ลดภาระหนี้ เพราะถ้าจ่ายหนี้เท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยลดลงมันจะตัดเงินต้นได้มากขึ้น เพราะเมื่อทยอยๆ ตัดเงินต้นมากขึ้น หนี้ครัวเรือนก็จะลดลงในท้ายที่สุด
และ 3. การพิจารณาออกมาตรการพิเศษออกมาช่วยการแก้หนี้
อย่างไรก็ดี การแก้ไขหนี้ไม่สามารถดำเนินการได้โดยใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ขณะเดียวกันลูกหนี้ก็ต้องดูแลสิทธิและเข้าใจการเงินเพื่อให้บริหารจัดกาารหนี้ให้ดีขึ้นด้วย เช่น การรีไฟแนนซ์หนี้ อย่างสินเชื่อเพื่อการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเมื่อมีการผ่อนชำระที่ดี ไม่ผิดนัดชำระหนี้เลย เมื่อครบ 3 ปีควรขอปรับลดดอกเบี้ยกับธนาคารที่กู้เพื่อขอลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งลูกหนี้ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ดีมีวินัยสามารถทำได้ เป็นต้น
"พอเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หมายถึงรายได้โต GDP โต คือ รายได้โต รายได้มากขึ้นก็มีเงินชำระหนี้มากขึ้น แค่นั้นเอง รายได้มากขึ้นทางคอลคลูเลชั่นก็ให้ตัวหารหนี้ต่อ GDP มันลง ลองคิดดูว่า GDP นอมินัลเทอม เวลา GDP โตมันเป็นเรียลเทอม ถ้านอมินัลเทอมกลับไปอยู่ที่ 4.5% สมมุติ หลายคนบอกเป็นไปได้ยังไง อินเฟชั่นถ้ากลับไปอยู่ค่ากลาง 1-3% ถ้าอินเฟชั่น 2% เป็นไปได้ไหม เป็นไปได้มาก 2% เพราะค่ากลาง คือ 1-3 แล้ว GDP โต 2.5% อินเฟชั่น 2 นอมินัลเทอมเป็น 4.5% ท่านลองหารเอาแล้วกันว่าหนี้ครัวเรือนจะลงเร็วแค่ไหน 2-3 ปี มีต่ำกว่า 80% แน่นอน เรื่องที่สองดอกเบี้ยต้องลง และวิธีที่สามอาจวุ่นวายขอข้ามไปเลยคือออกมาตรการรพิเศษ"
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
