พบ "สนิม" เป็นเกราะชั้นดี ป้องกันรังสีอันตรายให้ยานอวกาศได้
เมื่อพูดถึงศัตรูตัวร้ายที่ทำลายเหล็กให้ผุกร่อน "สนิม" นับเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์อันดับแรก ๆ สำหรับข้าวของเครื่องใช้และยานพาหนะที่เป็นโลหะทั้งหมด
แต่ใครจะคาดคิดว่า ปัจจุบันเราสามารถนำเอาผงของสนิมไร้ค่า มาทำเป็นเกราะป้องกันรังสีคอสมิกให้กับยานอวกาศที่ต้องเดินทางไกลได้แล้ว ซึ่งสนิมจะช่วยถนอมรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปราะบางภายใน รวมทั้งคุ้มครองปกป้องชีวิตและสุขภาพของนักบินอวกาศอีกด้วย
เทคนิคการใช้สนิมเป็นเกราะป้องกันรังสีอันตรายในอวกาศนี้ ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้ยานอวกาศตากฝน หรือทิ้งให้สัมผัสความชื้นจนสนิมขึ้นตามยถากรรมแต่อย่างใด
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (NCSU) และบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินของสหรัฐฯ ผู้คิดค้นเทคนิคดังกล่าวระบุว่า ได้ใช้ผงของสนิมโลหะบางประเภท เช่น กาโดลิเนียมออกไซด์ มาผสมกับพอลิเมอร์แล้วทาเคลือบผิวด้านนอกของยานอวกาศ เพื่อทดแทนเกราะป้องกันรังสีแบบดั้งเดิมที่เป็นกล่องครอบอะลูมิเนียมซึ่งทั้งหนาเทอะทะและหนักอึ้ง
- ยานนิวฮอไรซันส์ให้ข้อมูลใหม่ ปฏิวัติแนวคิดเรื่องการก่อตัวของดาวเคราะห์
- ภารกิจสู่ห้วงอวกาศลึกอาจทำให้นักบินอวกาศถึงตายได้
- รังสีที่แผ่ออกจากหลุมดำอาจให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้
รายงานการคิดค้นและพัฒนา "เกราะสนิม" ชนิดนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Radiation Physics and Chemistry ฉบับล่าสุด โดยรองศาสตราจารย์ ร็อบ เฮย์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ของทีมวิจัยบอกว่า "สนิมมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีต่าง ๆ จากอวกาศได้ใกล้เคียงกับเกราะโลหะแบบดั้งเดิม แต่ทำให้ยานมีน้ำหนักเบาขึ้นถึง 30% หรือมากกว่า"
"เมื่อเทียบกับเกราะป้องกันรังสีชนิดอื่นที่มีน้ำหนักเท่ากัน เกราะที่ทำจากสนิมจะมีราคาถูกกว่า และดูดซับรังสีอันตรายได้ได้มากกว่าถึง 30% ลดความรุนแรงของการแผ่รังสีแกมมาไปโดนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงถึง 300 เท่า"
"เมื่อสนิมเจอกับสภาพแวดล้อมในอวกาศ มันจะกลายเป็นพิษในระดับที่น้อยกว่าเกราะโลหะมาก ทั้งยังไม่ทำให้เกิดปัญหาทางแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยานด้วย" รศ. เฮย์ส กล่าว
นอกจากจะใช้งานด้านการสำรวจอวกาศแล้ว ทีมผู้วิจัยบอกว่ายังอาจจะประยุกต์ใช้ "เกราะสนิม" นี้กับงานด้านอื่น ๆ เช่นผลิตเกราะป้องกันรังสีต่าง ๆ ให้กับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารได้อีกด้วย