ESA เตรียมปล่อยภารกิจ “Hera” สำรวจการเปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อย
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เตรียมที่จะปล่อยยานอวกาศในภารกิจ เฮร่า (Hera) ภารกิจที่จะใช้ยานอวกาศในการป้องกันอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ โดยมีกำหนดการปล่อยยานภายในเดือนตุลาคมนี้
เฮร่า (Hera) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินผลกระทบของดาวเคราะห์น้อย ที่ก่อนหน้านี้องค์การนาซา (NASA) ได้มีการส่งยานอวกาศ ดาร์ต (DART) ไปพุ่งชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เพื่อทดสอบการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย ด้วยการใช้ยานอวกาศพุ่งชน ซึ่งจะถูกใช้เพื่อปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอนาคต
โดยภารกิจดาร์ต (DART) สำเร็จไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2022 ซึ่งการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสของยานอวกาศ ถือเป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติสามารถเปลี่ยนวงโคจรของเทหวัตถุในท้องฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในวงโคจรของไดมอร์ฟอสที่เกิดจากผลกระทบของภารกิจดาร์ต (DART) นั้นมากกว่าที่คาดไว้ และเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น จึงมีการส่งภารกิจต่อเนื่องขึ้นไป โดยภารกิจเฮราจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถทำความเข้าใจคุณสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อย
จากข้อมูลขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ยานอวกาศเฮรามีน้ำหนัก 1,081 กิโลกรัม และมีขนาดประมาณรถยนต์ขนาดเล็ก ประกอบด้วยเครื่องมือ 11 ชิ้น พร้อมด้วยดาวเทียมนาโน คูบต์แซต (CubeSat) ที่ปรับใช้ได้ 2 ชิ้น
โดยภารกิจ เฮร่า (Hera) มีกำหนดที่จะขึ้นสู่อวกาศ ด้วยจรวดฟอลคอนไนน์ จากบริษัทสเปซเอกซ์ โดยจะปล่อยจากสถานีปล่อยจรวดแหลมคาแนเวอรัล ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีกำหนดปล่อยระหว่างวันที่ 7-27 ตุลาคมนี้ และจะไปถึงดาวเคราะห์น้อยดิดิมอส (Didymos) ดาวเคราะห์น้อยบริวารที่โคจรคู่กับบดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ได้ภายในเดือนตุลาคม ปี 2026
ข้อมูลจาก reutersconnect, narit, esa