รีเซต

นักกีฬาโอลิมปิกชาวเบลารุส ร้องขอลี้ภัย หลังถูกครูฝึกสั่งให้บินกลับบ้าน

นักกีฬาโอลิมปิกชาวเบลารุส ร้องขอลี้ภัย หลังถูกครูฝึกสั่งให้บินกลับบ้าน
TNN World
3 สิงหาคม 2564 ( 18:23 )
57
นักกีฬาโอลิมปิกชาวเบลารุส ร้องขอลี้ภัย หลังถูกครูฝึกสั่งให้บินกลับบ้าน

Editor’s Pick: นักกีฬาโอลิมปิกชาวเบลารุส ร้องขอลี้ภัย หลังถูกครูฝึกสั่งให้บินกลับบ้าน

 

เจาะประเด็นดราม่า กลางการแข่งขันโอลิมปิก ที่เริ่มจากนักกีฬาชาวเบลารุสวิจารณ์ครูฝึก บังคับส่งกลับบ้าน จนถึงคำร้องขอลี้ภัย ที่ทำให้มิติการเมืองทับซ้อนกับมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติในกรุงโตเกียว

 

 

 


นักวิ่งสาวผู้ถูกริดรอนสิทธิ และบีบบังคับ

คริสตินา ซิมานูสกายา นักวิ่งหญิง วัย 24 ปี ค้างคืนที่โรงแรมภายในสนามบินฮาเนดะ เมื่อคืนวานนี้ (1 สิงหาคม) หลังเธอระบุว่า ถูกบังคับให้ไปสนามบินและเตรียมส่งกลับบ้าน หลังวิจารณ์ครูฝึก

 

 

แต่เธอได้ไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่น โดยระบุว่า เธอจะตกอยู่ในอันตราย หากถูกส่งตัวกลับประเทศ

 

 

ทางการญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือ ทำให้เธอยังไม่ถูกส่งตัวกลับบ้าน ด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ระบุว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมถึงจากสหประชาชาติได้ติดต่อ ‘ทสิมานูสกายา’ แล้ว

 

 

รัฐบาลเบลารุสอ้างว่า ถอดเธอออกจากทีมชาติ เพราะอารมณ์ของเธอไม่มั่นคง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากนัก

 

นี่กลายเป็นประเด็นการเมือง เพราะรัฐบาลสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์ ยื่นเสนอวีซาพำนักในประเทศให้กับ ‘ทสิมานูสกายา’ ขณะที่ BBC รายงานว่า นักกีฬาวิ่งหญิงก็กำลังพิจารณาจะขอลี้ภัยในยุโรปด้วย

 

 

 

“ฉันกลัวว่าพอกลับไปแล้ว ฉันจะถูกขังคุก”

 

คริสตินา ซิมานูสกายา เล่าว่า เจ้าหน้าที่หลายคนบุกเข้ามาในห้องพักของเธอ แล้วให้เวลาเธอเพียง 1 ชั่วโมง เพื่อเก็บกระเป่า ก่อนควบคุมตัวเธอไปสนามบิน โดยมีกำหนดบินกลับประเทศในเวลา 22.50 น. ตามเวลาในญี่ปุ่น

 

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งที่ เธอมีกำหนดแข่งวิ่งระยะ 200 เมตรในวันนี้ (2 สิงหาคม) โดยก่อนหน้านี้ เธอวิจารณ์การตัดสินใจของครูฝึกที่ลงชื่อเธอแข่งวิ่งผลัด 4 คูณ 400 เมตร โดยที่เธอไม่อนุญาต

 

 

“พวกเขาพยายามบังคับส่งฉันกลับประเทศ โดยที่ฉันไม่ยินยอม” ซิมานูสกายา กล่าวในวิดีโอที่โพสต์ลงผ่าน ช่อง Telegram ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนักกีฬาที่ร่วมประท้วงต่อต้านผู้นำเมื่อปีที่แล้ว

 

 

“ฉันกลัวว่า พอกลับไปแล้ว ฉันจะถูกขังคุก” เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ในเบลารุส “ฉันไม่กลัวถูกถอดออกจากทีมชาติ แต่ฉันกลัวความปลอดภัยของฉันเอง เบลารุสไม่ปลอดภัยสำหรับฉันแล้ว ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และพวกเขาตัดสิทธิไม่ให้ฉันแข่งวิ่ง 200 เมตรด้วย”

 

 

อนาโตล โคตาว สมาชิกในกลุ่มคุ้มครองสิทธินักกีฬาเบลารุส บอกกับ BBC ว่า “ซิมานูสกายา กลัวว่าครอบครัวของเธอจะเป็นอันตราย นี่เป็นสิ่งที่เธอกำลังหวาดกลัว”

 

 

กองกำลังรักษาความมั่นคงเบลารุสกวาดล้างผู้ประท้วงหลายแสนคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีลูกาเชนโก ที่ได้ชื่อว่าเผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป โดยผู้ประท้วงหลายคนเป็นนักกีฬาทีมชาติ ที่ถูกลงโทษด้วยการตัดงบสนับสนุน ถอดออกจากทีมชาติ และจับกุม

 

 

 

การเมืองในการแข่งขัน

 

มาร์ค อดัมส์ โฆษกของ IOC ระบุว่า ได้ดำเนินมาตรการลงโทษคณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุส เพื่อลงโทษต่อการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านการลงชิงตำแหน่งเลือกตั้งอีกครั้ง ของประธานาธิบดีอเล็กซานเดรอ์ ลูกาเชนโก

 

IOC ได้แบนเจ้าหน้าที่บางคน รวมถึงบุตรชายของผู้นำเบลารุส ที่ล้มเหลวต่อการปกป้องนักกีฬาที่เข้าร่วมการประท้วง

 

และจากกรณีของ ซิมานูสกายา ทาง IOC ได้ร้องขอรายงานชี้แจงฉบับเต็มจากคณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุสแล้ว

 

 

 

สถานการณ์เหมือนยุคโอลิมปิกช่วงสงครามเย็น

 

ในสมัยสงครามเย็น นักกีฬาจากสหภาพโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ฝั่งตะวันออกของยุโรป แปรพักตร์ขอลี้ภัยระหว่างการแข่งขันอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย กรณีการใช้เวทีแข่งขันเป็นจังหวะลี้ภัย เกิดขึ้นน้อยลง แต่การแปรพักตร์ย้ายประเทศ ยังคงเกิดขึ้น

 

 

เมื่อเดือนที่แล้ว นักกีฬายกน้ำหนักวัย 20 ปีชาวอุกันดา จูเลียส เซกิโตเลโก หายตัวไป หลังทิ้งข้อความว่า ชีวิตในอุกันดามันลำบากเกินไป เขาอยากจะทำงานในญี่ปุ่น แต่เขาถูกพบตัวในภายหลัก และส่งตัวให้ตำรวจ

 

 

ช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในกรุงลอนดอน ปี 2012 เอง นักกีฬาจากชาติแอฟริกาหลายคนก็หายตัวไป รวมถึงนักกีฬาคนำสำคัญของประเทศเอริเตรีย ที่ยื่นขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักร

 

 

แต่กรณีของ ซิมานูสกายา แตกต่างออกไป เพราะเธอไม่ได้อ้างเหตุผลทางการเมือง เพื่อพิจารณาขอลี้ภัย แต่เกิดขึ้น เพราะเธอถูกบีบบังคับให้กลับประเทศ โดยที่เธอไม่ยินยอม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง