รีเซต

ลูกจ้างฟังทางนี้! โดนกักตัว 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้าง

ลูกจ้างฟังทางนี้! โดนกักตัว 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้าง
Ingonn
9 พฤษภาคม 2564 ( 14:14 )
61.5K
ลูกจ้างฟังทางนี้! โดนกักตัว 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้าง

สถานการณ์โควิด-19 ไม่เข้าใครออกใคร ทำงานอยู่ดีๆก็อาจติดเชื้อโควิด-19 ได้โดยไม่ทันตั้งตัว หรือไม่ติดก็อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวนาน 14 วัน ไหนจะต้องพักสังเกตอาการอีก บางรายต้องลางานยาวเกือบ 1 เดือน แล้วแบบนี้จะได้ค่าจ้างช่วงที่ต้องลากักตัวไหม?

 

 

วันนี้ True ID ได้รวบรวมกรณีที่ต้องถูกกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างอย่างไร มาฝากกันแล้ว

 

 

กรณีถูกสั่งกักตัวสังเกตอาการเนื่องจากมีความเสี่ยง


กรณีที่สถานประกอบกิจการออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ภายหลังทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ 

 

ทั้งนี้ นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิ์การลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคดังกล่าว หรือสงสัยว่าลูกจ้างติดเชื้อ มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ มิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง และเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย

 

 

 

กรณีลูกจ้างมีอาการป่วย ต้องไปพบแพทย์

 

หากเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าลูกจ้างเป็นโรคดังกล่าวเกิดจากการตรวจวัดร่างกายเพราะมีอาการเป็นไข้ ย่อมถือว่า "ลูกจ้างป่วย" ซึ่งสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อลูกจ้างแจ้งการใช้สิทธิลาป่วยโดยชอบต่อนายจ้างแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย เว้นแต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาเพราะอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากลาป่วยเกิน 30 วันแล้วในรอบปี กรณีนี้ลูกจ้างอาจใช้สิทธิหยุดพักร้อนได้ และถ้าหากใช้สิทธิหยุดพักร้อนครบตามสิทธิตามกฎหมาย กฎระเบียบแล้ว ก็อาจตกลงกับนายจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้

 

อนึ่งโรคติดต่อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ เกี่ยวกับความเป็นความตายของชีวิตคน การปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อดังกล่าวจะต้องคำนึงสุขภาพร่างกายและชีวิตของมนุษย์เป็นเป้าหมายที่สำคัญ มากกว่าจะเอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งหรือมองว่าตนจะเสียประโยชน์บางอย่างไป

 

แต่กรณีติดโควิด-19 ไม่แสดงอาการป่วย ถ้านายจ้างให้ไปตรวจหาโรค แล้วไม่ไป แต่มาทำงานจนทำให้คนอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะติดโรคตามไปด้วย ถือว่าฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง ของนายจ้างในกรณีร้ายแรง ซึ่งนายจ้างอาจเลิกจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ดังนั้น ถ้านายจ้างให้ไปตรวจหาโรคก็ควรไปตรวจ เพื่อความปลอดภัยในหน้าที่การงานของตนเองและชีวิตของผู้อื่น

 

 


กรณีหยุดอยู่บ้านเฝ้าดูอาการ 14 วัน


ค่าจ้าง : ใครที่หยุดอยู่บ้านเพื่อกักตัวเฝ้ารอดูอาการ 14 วัน หรือถูกนายจ้างสั่งไม่ให้มาทำงาน เพราะสุ่มเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ หากต้องการค่าจ้างเต็มจำนวน อาจตกลงกับนายจ้าง ด้วยการขอทำงานอยู่บ้าน หรือใช้สิทธิ์ลาป่วย หรือสิทธิ์ลาพักร้อนแทน หรือนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) ก็ได้


          
ประกันสังคม : หากลูกจ้างมีสิทธิประกันสังคม และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ จะถือว่าเป็นกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

 

 


กรณีป่วยโควิด-19 ต้องรักษาตัว

เมื่อตรวจพบว่าตัวเองเป็นโควิด-19 และต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วย หรือถ้าสิทธิ์ลาป่วยหมด ให้ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนแทน แต่ถ้าเราไม่มีทั้งสิทธิ์ลาป่วยและลาพักร้อนเหลืออาจตกลงกับนายจ้าง ขอหยุดงานโดยรับหรือไม่รับค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท

 

 

 

กรณีนายจ้างสั่งปิดที่ทำงานเพราะเสี่ยงต่อการระบาด

 
ค่าจ้าง : หากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนเข้ามาทำงาน หรือมีลูกค้าที่ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการสถานประกอบการนั้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด นายจ้างอาจสั่งให้ปิดชั่วคราวเพื่อควบคุมโรค ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างมีสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างได้ หรือแล้วแต่ตกลงกันกับลูกจ้าง เช่น ให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งสามารถรับค่าจ้างได้อยู่


ประกันสังคม : ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ สามารถยื่นเรื่องรับเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

 

 

 

กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว


ค่าจ้าง : นายจ้างที่หยุดกิจการลงชั่วคราว เพราะผลกระทบต่อธุรกิจจากโควิด-19 จะไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย โดยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2551 กำหนดไว้ว่าจะได้รับไม่น้อยกว่า 75%

 

ประกันสังคม : ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ สามารถยื่นเรื่องรับเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

 

 

 

กรณีหยุดงานโดยสมัครใจ

เมื่อเราเลือกหยุดงานโดยสมัครใจ กรณีนี้จะไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay) ตามนโยบายของบริษัทที่ออกมา

 

 

 

ภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว


ค่าจ้าง : การที่ภาครัฐและจังหวัดต่าง ๆ สั่งปิดสถานบริการต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง สถานเสริมความงาม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อไม่ให้คนมารวมกลุ่มกันจนเกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 กรณีนี้ถือเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างอาจพิจารณาไม่จ่ายค่าจ้างให้ได้ เพราะลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้ ตามหลัก No Work No Pay หรือนายจ้างบางรายอาจจ่ายเงินบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้าง และหากเป็นงานที่สามารถทำจากที่บ้านได้ นายจ้างก็สามารถจ่ายเงินให้เต็มจำนวนได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทในการพิจารณาจ่ายเงินด้วย 

 

ประกันสังคม : กรณีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ สามารถยื่นเรื่องรับเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

 

 


ขั้นตอนขอรับสิทธิกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย (โควิด-19)

ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินเยียวยากรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสามารถยื่นเรื่องได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

1. ผู้ประกันตนกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) พร้อมเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกต้อง และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อ

  • กรณีกักตัวใช้เอกสารประกอบ คือ ใบรับรองแพทย์ให้กักตัว หรือคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้กักตัว


2. ผู้ประกันตนนำ สปส.2-01/7 และเอกสารอื่น ๆ ส่งให้นายจ้างรวบรวม

 

3. นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว ผ่านระบบ e-service ที่ www.sso.go.th  (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

 

4. เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th

 

5. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน จะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ สำหรับกรณีที่เงินไม่เข้าบัญชีภายในกำหนด ขอให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านยื่นเอกสาร หรือโทรสายด่วน 1506 เพื่อดำเนินการแก้ไขทันที

 

 

 

เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) การยื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย สำนักงานประกันสังคม จึงกำหนดให้นายจ้างยื่นแบบคำขอขอรับประโยชน์ทดแทนของลูกจ้าง ผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานฯ กรณีนายจ้างยังไม่ได้สมัครใช้งาน e-Service สามารถสมัครใช้งานได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ก่อนดำเนินการยื่นแบบขอรับสิทธิฯ ผ่านระบบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 หรือสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่นายจ้างตั้งอยู่

 

 


ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน , กรมการจัดหางาน , kapook , jobsugoi

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง