รีเซต

"กระทง" วิกฤตขยะในคืนวันเพ็ญ สัญลักษณ์การขอขมาที่กลายเป็นมลพิษแหล่งน้ำ

"กระทง" วิกฤตขยะในคืนวันเพ็ญ สัญลักษณ์การขอขมาที่กลายเป็นมลพิษแหล่งน้ำ
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2567 ( 14:41 )
18

กระทง ที่ถูกปล่อยสู่แม่น้ำในเทศกาลลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ของทุกปี หลายสิบล้านใบ แต่หากนับเฉพาะ กทม. ซึ่งมีการเก็บสถิติไว้โดยสำนักวิ่งแวดล้อม กทม. จะพบว่าภายในคืนเดียวมีกระทงกว่า 6.3 แสนใบลอยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง รวมไปถึงสระน้ำแบบปิดในสวนสาธารณะของ กทม.


ก่อนปล่อยกระทงลงสู่สายน้ำ กระทง คือ สัญลักษณ์ของการขอขมาแด่พระแม่คงคาตามความเชื่อ เมื่อตลอดทั้งปีได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด ตลอดจนเป็นการสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ 


แต่ทันทีที่กระทงลงสู่สายน้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทงในมือคุณ คือ ขยะ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ ทำให้ กทม. ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบในการจัดเก็บอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กลายเป็นมลพิษในแม่น้ำ  โดย กทม. จะใช้บุคลากรราว 168 คน พร้อมรถ-เรือเก็บขยะ รวม 50 ลำ เพื่อจัดเก็บ คัดแยก และ นำกระทงที่ถูกลอยออกจากฝั่งในช่วงค่ำคืนวันเพ็ญไปทำลายก่อนเข้าสู่รุ่งสางของวันใหม่   


"กระทง" วิกฤตขยะในคืนวันเพ็ญ

"กระทง" จึงไม่ต่างกับภูเขาขยะในเทศกาลขอขมาแม่น้ำ และ กลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่ากระทงบางชนิดจะถูกทำขึ้นจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม การจัดเทศกาลลอยกระทงในช่วงระยะ 5-10 ปีหลัง จึงมักถูกตั้งคำถามและเกิดการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กับ กลุ่มผู้อนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม 

 

อ. สุพจน์ ชุณหโชติอนันต์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการ ภาคบริการและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน ให้ความเห็นว่าควรมองปัญหาไปที่ตัว “กระทง” มากกว่า ”เทศกาล” เพราะเทศกาลลอยกระทงมีความสัมพันธ์ในหลายมิติ ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเทศกาลลอยกระทง เป็นเทศกาลขนาดใหญ่ มีการจัดงานในทุกชุมชน ทำให้เกิดการรวมตัวในลักษณะการจัดงานรื่นเริง เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว และ การจำหน่ายสินค้า  

 

“ผมมองว่า “เทศกาลลอยกระทง” ไม่ใช่ปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่มางานเทศกาลลอยกระทง เพราะต้องการมาดื่มด่ำบรรยากาศ มาท่องเที่ยวกับครอบครัว กับ คู่รัก  แต่หากดูเฉพาะตัว “กระทง” ที่จำหน่ายในงานเทศกาล ไม่แน่ใจว่าจะมีสัดส่วนมากแค่ไหนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ เพิ่มเงินหมุนเวียน ถ้ามีการปรับรูปแบบการลอยแบบออนไลน์ทดแทน หรือ เป็นการลอยกระทงแบบกลุ่ม แต่คนยังมากิน มาเที่ยวในงานเทศกาลเช่นเดิมไม่น่าจะส่งผลต่อเงินหมุนเวียน ฉะนั้น ปัญหาของเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแค่ตัว “กระทง” เท่านั้น” อ. สุพจน์ ให้ความเห็น


สัญลักษณ์ขอขมา หรือ มลพิษทำลายสายน้ำ

นักวิชาการด้านความยั่งยืน จากรั้ว มศว มองว่าการลอยกระทงในปัจจุบัน และ อนาคต ควรมองให้รอบด้าน และ ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ความเป็นจริง หากกระทงในรูปแบบเดิมสร้างมูลค่าแต่กลายเป็นของเสียที่ซ้ำเติมมลพิษในแหล่งน้ำ ต้องมีการปรับรูปแบบใหม่ และ สร้างสมดุลให้เป็นไปในทางบวกมากที่สุด เช่น การลอยกระทงออนไลน์ ก็เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 


ทั้งนี้นักวิชาการระบุว่าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะลอยกระทงลงแม่น้ำ เพราะต้องการส่งเสริมประเพณี หรือ สร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชน ก็อาจจำเป็นต้องใช้วัสดุที่ต้องมั่นใจว่าปล่อยไปแล้วไม่ทำลายแหล่งน้ำ หรือ มีบางชิ้นส่วนที่หลุดออกไปก็อาจเป็นของเสีย แต่ส่วนตัวมองว่าการงดการลอยกระทงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือ แหล่งน้ำเปิด มาเป็นการลอยกระทงในรูปแบบแหล่งน้ำปิด ซึ่งง่ายต่อการจัดการขยะกระทงน่าจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะเป็นการลอยกระทงที่ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ได้ โดยไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม และ ยังง่ายต่อการบริหารจัดการหลังเสร็จสิ้นเทศกาล 

 

จากรายงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมระบุว่าผลกระทบที่เกิดจากวัสดุกระทงบางประเภท เช่นกระทงกระดาษ กระทงขนมปัง แม้จะดูเหมือนเป็นวัสดุที่ย่อยสลายไม่ยาก แต่กลับพบว่าวัสดุเหล่านั้นจะเปื่อยยุ่ยเมื่อถูกน้ำ ยากต่อการจัดเก็บ และเสี่ยงทำให้น้ำเน่าเสีย 


ส่วนขยะพลาสติกเมื่อเจอกระแสน้ำ คลื่นลม อาจแตกตัวกลายเป็นปัญหาไมโครพลาสติก ซึ่งกระทงแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาการย่อยสลายที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดอาจต้องใช้เวลาย่อยสลายไม่ต่ำกว่า 50 ปี 


จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าการลอยกระทงลงสู่แม่น้ำแต่ละครั้ง มีราคาที่ต้องจ่าย การอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทงให้คงอยู่สืบไป จึงอาจไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องรวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมและคงไว้ซึ่งเจตนารมย์ในการขอขมาพระแม่คงคาที่ไม่ใช่การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปเพิ่มเติม


อ้างอิง : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร , กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม


EXCLUSIVE CONTENT  BY วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง