รีเซต

ปภ.แนะรู้ทัน-ป้องกันอุบัติภัยวันลอยกระทง

ปภ.แนะรู้ทัน-ป้องกันอุบัติภัยวันลอยกระทง
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2567 ( 15:02 )
22

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยในเทศกาลลอยกระทง ซึ่งหลายคนวางแผนไปเที่ยวงานลอยกระทง บรรยากาศที่แต่สถานที่จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีทั้ง การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ หากไม่ระมัดระวังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยได้ เพื่อความปลอดภัย ปภ.แนะวิธีป้องกัน ดังนี้


อุบัติภัยทางน้ำ : ควรเลือกสถานที่ลอยกระทงที่ปลอดภัย ท่าน้ำและโป๊ะเรือมั่นคงแข็งแรง มีที่กั้นหรือราวจับ ตลิ่งน้ำไม่สูงชัน ตลิ่งดินไม่ทรุดตัว ป้องกันการลื่นไถลพลัดตกน้ำ และมีเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวก ไม่ลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมากเพราะเสี่ยงต่อการถูกเบียดพลัดตกน้ำ



ส่วนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณริมน้ำ เพราะมีความเสี่ยงต่อการพลัดหลงและได้รับอันตรายจากอุบัติภัยภายในงานลอยกระทง

ทั้งนี้มีข้อมูลว่าช่วงเทศกาลลอยกระทงเด็กไทยมีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงเวลาปกติ ซึ่งมักมีสาเหตุจากเด็กลงไปเก็บเงินในกระทงและพลัดตกน้ำ


นอกจากนี้ยังเตือนอันตรายอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟ : แนะให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอันตราย เช่น ไม่จุดดอกไม้ไฟในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะใกล้แนวสายไฟ สถานีบริการน้ำมัน หรือ วัตถุไวไฟ

ไม่นำพลุ หรือ ดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติด มาจุดซ้ำหรือใช้ปากเป่าให้ติด



ควรจุดพลุในที่โล่งแจ้งและห่างจากชุมชน ก่อนจุดพลุทุกครั้งควรออกให้ห่างจากบริเวณที่จุดพลุ ในระยะ 10 เมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตรายจากพลุระเบิด รวมทั้งไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดและห้ามโยนดอกไม้ไฟใส่กลุ่มคน อีกทั้งห้ามดัดแปลงพลุ ดอกไม้ไฟให้มีแรงอัดหรือแรงระเบิดสูง เพราะจะทำให้ได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต


ส่วนอันตรายอุบัติภัยจากโคมลอย : แนะนำให้ปล่อยโคมลอยในที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งชุมชน และแนวสายไฟ /ไม่ปล่อยโคมลอยบริเวณสนามบิน ไม่ดัดแปลงโคมลอยให้ลอยสูงในระดับการบินเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยาน ใช้โคมลอยที่ได้มาตรฐาน และเผาไหม้หมดกลางอากาศ เมื่อตกลงสูงพื้น จะช่วยป้องกันการเกิดเพลิงไหม้



ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือประสบพบเหตุ สามารถแจ้งและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาพ : ทีมกราฟิก TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง