ทำความรู้จัก X-37B เครื่องบินอวกาศลึกลับของกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกา
เครื่องบินอวกาศ Boeing X-37 เทคโนโลยีอากาศยานรุ่นหนึ่งที่เป็นความลับสูงสุดของสหรัฐอเมริกา พัฒนาโดยบริษัท Boeing ภายใต้สัญญากับกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกา (USSF) เพื่อรองรับการทำภารกิจลับด้านการทหารบนวงโคจรของโลกโดยไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน
เครื่องบินอวกาศลำนี้ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเครื่องบินขนาดเล็ก โครงสร้างมีปีกกว้าง 14.7 เมตร และยาว 8.8 เมตร ภายนอกติดตั้งกระเบื้องกันความร้อน ระบบขับเคลื่อนด้วยไอพ่นจรวดแบบ Aerojet AR2-3 ใช้เชื้อเพลิงเหลวไฮเปอร์โกลิกไนโตรเจน-เตตรอกไซด์ และไฮดราซีน
การควบคุมเครื่องบินอวกาศ Boeing X-37 ใช้รูปแบบการควบคุมโดยมนุษย์จากศูนย์ควบคุมบนโลก และการบินด้วยระบบการบินอัตโนมัติ เนื่องจากโครงสร้างที่มีขนาดเล็กทำให้มันเป็นเครื่องบินอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศภายในตัวเครื่อง
สำหรับการเดินทางขึ้นสู่อวกาศเครื่องบินอวกาศรุ่นนี้ยังต้องใช้จรวดขนส่งรุ่นต่าง ๆ เป็นตัวช่วย เช่น Atlas V หรือจรวด Falcon Heavy หลังทำภารกิจโคจรรอบโลกสำเร็จแล้วมันจะเดินทางกลับโลกด้วยการบินลงจอดบนสนาม ในลักษณะเดียวกับกระสวยอวกาศ
การทดสอบเครื่องบินอวกาศ Boeing X-37 เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2006 และถูกส่งขึ้นปฏิบัติภารกิจลับบนอวกาศมาต่อเนื่องประมาณ 6 ภารกิจ จนถึงภารกิจล่าสุดในเดือนธันวาคม 2023 โดยใช้จรวด Falcon Heavy ของบริษัท SpaceX
ความสำเร็จของเทคโนโลยีกระเบื้องกันความร้อนเซรามิก ซิลิกาของเครื่องบินอวกาศ Boeing X-37 ถูกนำมาใช้กับยานอวกาศ CST-100 ซึ่งเป็นยานอวกาศที่ถูกออกแบบให้สามารถขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างปลอดภัย
จุดเด่นของเครื่องบินอวกาศ Boeing X-37 อยู่ตรงที่มันสามารถปฏิบัติภารกิจบนอวกาศได้เป็นระยะเวลานาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้นักบินอวกาศ เช่น ในภารกิจที่ 6 ที่ผ่านมา เครื่องบินอวกาศรุ่นนี้ใช้เวลาบนอวกาศนานกว่า 908 วัน และทำภารกิจลับต่าง ๆ ให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ก่อนเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย
เนื่องจากภารกิจลับของเครื่องบินอวกาศรุ่นนี้ไม่ถูกเปิดเผยออกมาทำให้มักตกเป็นข่าวลือบนสื่อต่างประเทศเป็นระยะ เช่น ภารกิจทดสอบอาวุธคลื่นไมโมรเวฟแม่เหล็กไฟฟ้า EmDrive ภารกิจในการสอดแนมดาวเทียมรัสเซีย หรือภารกิจติดตามสถานีอวกาศเทียนกงของจีน อย่างไรก็ตาม กองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตอบสนองหรือกระแสข่าวลือดังกล่าว
ที่มาของข้อมูล en.wikipedia.org