รีเซต

วันแม่ เคยชื่อ “วันมารดา” เริ่มจัดสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อต้าน “ญี่ปุ่นกลืนชาติ” | Chronicles

วันแม่ เคยชื่อ “วันมารดา” เริ่มจัดสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อต้าน “ญี่ปุ่นกลืนชาติ” | Chronicles
TNN ช่อง16
9 สิงหาคม 2567 ( 15:45 )
10
วันแม่ เคยชื่อ “วันมารดา” เริ่มจัดสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อต้าน “ญี่ปุ่นกลืนชาติ” | Chronicles




12 สิงหาคม ในทุกปีของประเทศไทยเป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนจะรับรู้กันว่า เป็นวันที่ต้องระลึกถึงพระคุณแม่ผู้ให้กำเนิด และแสดงความเคารพด้วยการนำดอกมะลิไปกราบแทบเท้า


แต่ตามประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของวันแม่นั้น อาจมองได้ว่า เป็นไปด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ไม่ต้องการถูก “ญี่ปุ่นกลืนชาติ”


สมัยที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกราว พ.ศ. 2485 จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ณ ตอนนั้น ได้แสดงความกังวลต่อการถูกกลืนชาติ เนื่องจากทหารเหล่านี้เป็นชายฉกรรจ์ เกรงว่าจะหลงรักสาวไทย และให้กำเนิดลูกครึ่ง จนชนชาติไทยนั้นกลายเป็น “ไม่แท้” 


จอมพล ป. ได้เขียนบทความ “ดอกไม้ของชาติ” ในนามของสามัคคีชัย ในวันที่ 29 ตุลาคม 2485 เสนอถึงการมีคู่ของหญิงซึ่งเกี่ยวพันกับเกียรติของชาติ ความว่า ชาติได หยิงในชาตินั้นเป็นอารยะเพียบพร้อม มีความรักชาติ รักคู่สมรสชาติเดียวกันไว้เป็นแก่นสารแล้ว ชาตินั้น  ก็มีทางแต่งเดินขึ้นทุกวัน


รวมถึงเสนอเรื่อง “ความเป็นแม่” ว่าสำคัญที่สุด หากไปแต่งงานกับชายญี่ปุ่น ความเป็นแม่ของไทยอาจมัวหมอง ความว่า แม่เป็นผู้ให้กําเหนิด ... ถือว่ามีความสําคันเกี่ยวกับการส้างชาติในลําดับที่ 1 ส่วนสําคัญที่สุดแห่งสรรพกําลังของชาตินั้นก็คือคน เราต้องมีคนก่อนจึงจะทําหย่างอื่นได้


แนวคิดเช่นนี้ ในปี 2486 กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มจัดงาน “วันมารดา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นวันตั้งกระทรวงการสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์


 เพื่อเป็นการส่งเสิมให้บันดามารดาทั้งหลายได้มีโอกาสไปร่วมพบปะประชุมกัน อันจะเป็นผลนํามาซึ่งความสามัคคีและทั้งจะได้รับความรู้ในเรื่องการสงเคราะห์มารดาและเด็ก เพื่อจะได้ช่วยกันลดอัตตราตายของทารกให้น้อยลง เป็นการเพิ่มพูนสมัถภาพและจํานวนพลเมืองให้มากขึ้นจะได้เพิ่มความเข้มแข็งของชาติสืบไป


หมายความว่า วันมารดาคือการให้ผู้หญิงไทยต้องให้กำเนิด “ลูกไทยแท้” มาพบปะกันเพื่อพูดคุยแนวทางการเลี้ยงลูกไทยแท้ให้มั่นคง เป็นกำลังของชาติไทย ทำให้ชาติไทยแข็งแกร่ง


วันมารดาจัดขึ้น 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 เพราะเป็นวันครบรอบกระทรวงสาธารณสุข และหมายจะจัดในวันนี้ของทุกปี ก่อนที่จะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น จึงได้ยกเลิกไปนานก่อนที่จะกลับมาจัดอีกครั้งใน พ.ศ. 2493 โดยใช้วันที่ 15 เมษายน ของทุกปี และเปลี่ยนมาเป็น 12 สิงหาคม เช่นปัจจุบัน


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง