รีเซต

“รถบินได้” ทรงคล้ายเฮลิคอปเตอร์ติดล้อ บินได้ แล่นได้ ในคันเดียว !

“รถบินได้” ทรงคล้ายเฮลิคอปเตอร์ติดล้อ บินได้ แล่นได้ ในคันเดียว !
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2567 ( 09:40 )
36

ยังคงมีมาให้ตื่นเต้นกันเรื่อย ๆ สำหรับเทคโนโลยีรถบินได้ อย่างเช่นรถบินได้รุ่นนี้ ที่มีชื่อว่า เพกาซัส อี (Pegasus E) ที่เป็นยานพาหนะแบบบินขึ้นและลงในแนวดิ่ง คล้ายกับเฮลิคอปเตอร์ แต่ติดตั้งล้อสำหรับใช้ขับเคลื่อนไปบนท้องถนนได้ด้วย เรียกได้ว่าจะใช้บินบนฟ้า หรือจะเอามาขับโลดแล่นไปตามท้องถนน ก็สามารถทำได้ในคันเดียว


ภาพจาก Pegasus Aerospace

ผลงานนี้เป็นการพัฒนาของบริษัท เพกาซัส แอโรสเปซ (Pegasus Aerospace) บริษัทจากประเทศออสเตรเลีย ที่ตั้งเป้าปฏิวัติการเดินทางในเมืองด้วยยานพาหนะขนส่งส่วนบุคคลแบบไฮบริดรูปแบบใหม่ ผสมผสานฟังก์ชันการทำงานของรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์เข้าไว้ด้วยกัน


โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2013 เพกาซัส อี (Pegasus E) เคยเปิดตัวมาในรูปแบบของยานพาหนะแบบสามล้อ ก่อนที่จะมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2021 ให้เป็นแบบสี่ล้อ โดยตัวยานพาหนะเป็นแบบไฮบริด ภายในรองรับ 1 ที่นั่ง ติดตั้งเครื่องยนต์ให้พละกำลัง 160 แรงม้า มีแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ร่วมกับการใช้เชื้อเพลิงเบนซิน และรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ที่ 101 กิโลกรัม


ภาพจาก Pegasus Aerospace

ทั้งนี้บริษัทชูจุดเด่นของรถบินได้ ด้วยความสามารถในการเปลี่ยนจากการขับขี่บนถนนไปสู่การบินผ่านท้องฟ้า และกลับมาสู่การใช้งานบนท้องถนนได้อีกครั้งได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องอาศัยรันเวย์ในการบินขึ้นหรือลง 


และอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้รถบินได้คันนี้ แตกต่างจากยานพาหนะที่บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งอื่น ๆ คือการใช้ระบบพลังงานแบบไฮบริด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางบนถนน และใช้น้ำมันเบนซินออกเทนสูงในการบิน ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย นอกจากการใช้งานส่วนบุคคล เช่น ใช้เป็นยานพาหนะขนส่ง บริการฉุกเฉิน หรือใช้เป็นรถตำรวจ

ภาพจาก Pegasus Aerospace

ส่วนในแง่ของสมรรถนะ สำหรับการใช้งานบนท้องถนน ตัวรถจะทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสำหรับการใช้งานบนท้องฟ้า จะสามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรักษาความเร็วขณะบินล่องได้ที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ที่ระดับความสูง สูงสุดที่ 1,800 เมตร และให้ระยะทางการบินสูงสูดที่ประมาณ 420 กิโลเมตร


สำหรับความคืบหน้าของ เพกาซัส อี (Pegasus E) เมื่อปี 2023 บริษัทได้รับใบรับรองความสมควรเดินอากาศจากหน่วยงานความปลอดภัยการบินพลเรือน (CASA) ของประเทศออสเตรเลีย และกำลังอยู่ในช่วงขอการรับรองจากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เป็นลำดับต่อไป

ข้อมูลจาก autoevolutionnewatlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง