รีเซต

สธ.มีมติการฉีดวัคซีนโควิดในชั้นผิวหนังได้ แนะใช้เฉพาะกรณีที่มีปริมาณวัคซีนจำกัด

สธ.มีมติการฉีดวัคซีนโควิดในชั้นผิวหนังได้ แนะใช้เฉพาะกรณีที่มีปริมาณวัคซีนจำกัด
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2564 ( 15:25 )
244

วันนี้ (5 พ.ย.64) ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ภาพรวมแนวโน้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วประเทศถือว่าลดลงมีเพียงบางพื้นที่ที่ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่ลดลงและดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการแพร่ระบาดของประเทศ แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ 

 

 

โดยเฉพาะที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส คาดไม่เกิน 3 สัปดาห์ สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย ส่วนจ.ปัตตานียังคงต้องควบคุมโรคตรวจหาเชื้อเชิงรุก ขณะที่จ.นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ระยอง ตราด จันทบุรี และขอนแก่น ยังคงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง

เนื่องจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อถึงแม้จะชะลอตัวลงแต่ยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่ดังกล่าวหากมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรเพิ่มมากขึ้น คาดว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดก็จะลดลง

 

 

ทั้งนี้ นพ.โอภาส ยังแนะนำประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการจัดงานทอดกฐิน เพื่อป้องกันคลัสเตอร์การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ขอพี่น้องประชาชนจัดงานกฐินอย่างปลอดภัย งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และขอให้มีมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ให้เป็นงานทอดกฐินอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการสาธารณสุข

 

นพ.โอภาส ยังได้ระบุถึง หลังเปิดประเทศว่า หากมาตรการต่างๆไม่เข้มข้นความร่วมมือต่างๆมีไม่มากและลดน้อยลงก็อาจจะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่หากทุกคนร่วมมือกันด้วยดี ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เช่น การฉีดวัคซีนครบถ้วน ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting สถานการณ์การติดเชื้อและสถานการณ์ต่างๆก็จะดีขึ้นตามลำดับ

 

 

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยที่ประชุมได้มีการเปิดเผยถึงข้อมูลประสิทธิภาพผลวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นข้อมูลเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้ออยู่ร้อยละ 54 ส่วนสูตรไขว้ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อร้อยละ 70 

 

โดยมีประเด็นการพิจารณา คือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในผิวหนัง โดยที่ประชุมมีมติฉีดวิธีนี้ได้ แต่แนะนำให้ใช้เฉพาะกรณีที่มีปริมาณวัคซีนจำกัด ข้อดีคือ สามารถลดปริมาณวัคซีนที่จะฉีดได้ ส่วนประสิทธิผลการฉีดด้วยวิธีนี้ เมื่อเทียบการฉีดวัคซีนปกติเข้ากล้ามเนื้อประสิทธิผลเท่ากัน แต่ผลแทรกซ้อนในผิวหนังจะเห็นได้ชัดกว่า แต่อาการเป็นไข้จะลดน้อยกว่า

 

ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนโควิด-19 แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้

 

ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16 , กระทรวงสาธารณสุข  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง