รีเซต

รัฐสภา ลงมติรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรธน. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.

รัฐสภา ลงมติรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรธน. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.
TNN ช่อง16
18 พฤศจิกายน 2563 ( 20:08 )
145
รัฐสภา ลงมติรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรธน. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.

วันนี้( 18 พ.ย.63) ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาเกือบ 6 ชั่วโมง ดำเนินกระบวนการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทีละคนและนับคะแนนจนเสร็จสิ้น ผลปรากฏว่า มีเพียง 2 ร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ได้คะแนนเห็นชอบ 576 ต่อ 21 เสียง และร่างของพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเห็นชอบ 647 ต่อ 17 เสียง โดยทั้ง 2 ร่างได้เสนอขอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือได้รับคะแนนความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือไม่ถึง 366 เสียง ทำให้ร่างดังกล่าวตกไป หนึ่งในนั้นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือ ไอลอว์ด้วย เพราะมี ส.ว. ที่ลงมติฉบับสนุนเพียง 3 คน เท่านั้น ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , นายพีระศักดิ์ พอจิตและนายพิศาล มาณวพัฒน์ จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะรับหลักการได้ 

ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 45 คน แบ่งสัดส่วนเป็น ส.ส.รัฐบาล 17 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 13 คน และ ส.ว.15 คน กำหนดกรอบแปรญัตติ 15 วัน และให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยที่ประชุมได้มีมติให้ใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา 

ทั้งนี้ เป็นที่ฮือฮาพอสมควรกับการลงมติของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ , นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ  และนายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โหวตสวนมติวิปรัฐบาล โดยลงมติไม่รับหลักการแม้แต่ฉบับเดียว ส่วน 2 ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ และ นางสาวพรพิมล ธรรมศาลไม่ได้มาประชุมเพื่อเลี่ยงการขานชื่อในการลงมติ

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล รวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้แถลงขอบคุณทุกฝ่ายรวมถึง ส.ว. ที่ให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. และยืนยันในส่วนของร่างอื่นหากมีส่วนใดที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมรับมาประกอบการพิจารณา แต่จะไม่มีการไปปรับแก้ในหมวด 1 หมวด 2 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ 

สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย

1.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของรัฐบาล

2.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของฝ่ายค้าน

3.ญัตติแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ พ่วงมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯคนนอก

4.ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

5.ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

6.ญัตติแก้ไขมาตรา 91-92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม เรื่อง ซึ่งระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540

7.ญัตติที่ 7 ของ ilaw นั้นต้องการให้ “รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมรัฐสภารับแค่ญัตติที่ 1 และญัตติที่ 2 



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง