จี้กรมประมงเข้มงวดห้องเย็น...รับซื้อกุ้งในประเทศให้หมดก่อนนำเข้า
ฤดูฝนมาครั้งใด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องคอยระมัดระวังและดูแลผลผลิตเป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่มีอัตราเสียหายสูง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงไปในบ่อส่งผลต่อค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ทำให้กุ้งกินอาหารลดลง ซึ่งปกติกุ้งจะกินอาหารได้ดีที่อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ในช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำในบ่อจะมีอุณหภูมิลดลง กุ้งจะกินอาหารน้อยลงจึงโตช้า ขณะที่เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งขายเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้กุ้งไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ราคาจึงอ่อนลงเป็นวัฏจักร
ช่วงเวลานี้ นับเป็น ”นาทีทอง” ของห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่จะซื้อกุ้งเก็บเป็นสต๊อก เพื่อบริหารต้นทุนให้เหมาะสมและสนับสนุนการผลิตในช่วงที่กุ้งออกสู่ตลาดน้อย เพื่อช่วยพยุงราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป แทนการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ที่มีนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน ประกาศประกันราคาขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไมขนาดต่างๆ และเงื่อนไขรับซื้อและความต้องการวัตถุดิบกุ้งของโรงงาน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการรับซื้อจนถึงสิ้นปี 2565 ตลอดจนรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร โดยเกณฑ์ราคาประกันอยู่ระหว่าง 119-180 บาท/กก. ตามขนาดกุ้ง 100-30 ตัว/กก. อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่สูงมากเพราะเป็นการคำนวณจากต้นทุนการผลิตในปี 2562 อาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตกรในปัจจุบัน
สำคัญที่สุด กรมประมงต้องจับตาใกล้ชิดและเข้มงวดอย่าให้ผู้ซื้อตุกติก ดึงเวลาชะลอการซื้อกุ้ง รอราคาลงต่ำมาเท่ากับราคาประกันจึงเข้าซื้อ หรืออาจกดราคาต่ำกว่าได้อีก เพราะรู้ดีว่ามีแต้มต่อเหนือเกษตรกร ยิ่งช่วงนี้ฝนชุกมากเกษตรกรยิ่งเร่งจับกุ้งขาย กุ้งจับมาแล้วไม่มีที่เก็บราคายิ่งตกต่ำ ทำให้ต้องจำเป็นต้องขายในราคาถูก กำไรนิดหน่อยดีกว่าขาดทุน
สำหรับฟาร์มที่จะขายกุ้งในโนโครงการประกันราคาขั้นต่ำกุ้งได้นั้น กุ้งต้องผ่านคุณภาพต่างๆ เช่น ต้องไม่มีหางไหม้ เนื้อน้ำตาล เปลือกหลุด ตัวนิ่ม กุ้งพิการ กุ้งผอม ไม่เกิน 5% และต้องมีผลตรวจสารตกค้าง 3 รายการ ได้แก่ Nitrofurans Fluoroquinolone และ Tetracycline ณ วันจับกุ้ง ให้กับโรงงาน ด้านห้องเย็นและโรงงานแปรรูปย้ำว่าเป็นราคารับซื้อที่ปากบ่อ และต้องได้คุณภาพกุ้งสวย สด และได้ขนาดตามต้องการ ซึ่งเงื่อนไขนี้เกษตรกรรายเล็กอาจจะหมดโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นข้ออ้างที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถใช้ปฏิเสธการรับซื้อจากเกษตรกรในราคาสูง เพื่อหันไปนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูก
สำหรับผู้ซื้ออย่างห้องเย็นและโรงงานแปรรูป Shrimp Board อนุมัติให้นำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียในปริมาณ 10,000 ตัน เพื่อให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปมีวัตถุดิบเพียงพอเลี้ยงระบบการผลิตและส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด โดยต้องซื้อกุ้งในประเทศในราคาประกันที่ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด หากแต่เกษตรกรมีความกังวลว่าการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว และไม่ตอบโจทย์เป้าหมายการทวงแชมป์โลกกุ้งส่งออกของไทยที่มีเป้าหมายการผลิต 400,000 ตัน ปี 2566
ดังนั้น Shrimp Board ควรกำหนดเงื่อนไขให้ห้องเย็นรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรจนหมด ก่อนพิจารณาให้นำเข้าเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรหลักหลายรายการ ที่รัฐบาลกำหนดรูปแบบการนำเข้าในลักษณะโควต้า หรือส้ดส่วนการนำเข้าระหว่างซื้อผลผลิตในประเทศ จึงจะสามารถนำเข้าได้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพราคาให้เกษตรกร เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรลงกุ้งรอบใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว
ความกังวลของผู้เลี้ยงกุ้งไทยขณะนี้ คือ ห้องเย็นอาจใช้กลยุทธ์ชะลอการรับซื้อกุ้งเพื่อดึงราคาในตลาดให้ต่ำลงเท่ากับราคาประกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และรอจังหวะนำเข้าเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ 2 เด้ง กรมประมงจึงจำเป็นต้องดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อ ที่สำคัญกรมฯ ควรมีมาตรการจูงใจที่เป็นรูปธรรมให้กับเกษตรกรในการลงกุ้งรอบใหม่ เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง
Shrimp Board รายงานสถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลไทยช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 ว่ามีผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงรวม 138,733 ตัน (เป็นกุ้งขาวแวนนาไม 93.06%) แสดงให้เห็นว่าการผลิตกุ้งของไทยฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้น และมีเป้าหมายการผลิตที่ 320,000 ตัน ภายในสิ้นปีนี้ และ 400,000 ตันในปี 2566 โดยในระยะกลางและระยะยาว ผู้เลี้ยงกุ้งต้องการเห็นภาครัฐยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม มีงานวิจัยสนับสนุนการทำฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาพ่อ-แม่พันธ์กุ้งคุณภาพดี ต้านทานโรคสูง เพื่อเพิ่มอัตรารอดของกุ้งให้สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สู่ความสำเร็จในการทวงคืนแชมป์โลกและรักษาสถานะได้อย่างยั่งยืน