รีเซต

ผู้เลี้ยงกุ้งใต้อ่วม โดนฝนกระหน่ำและผลพวง “นำเข้ากุ้งเอกวาดอร์”

ผู้เลี้ยงกุ้งใต้อ่วม โดนฝนกระหน่ำและผลพวง “นำเข้ากุ้งเอกวาดอร์”
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2565 ( 16:12 )
57

นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิจัยอิสระ ด้านสัตว์น้ำ

ตลอดเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ต้องเผชิญชะตากรรมหนัก จากราคากุ้งที่ทยอยร่วงลงมาเรื่อยจากพายุฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงไปในบ่อเลี้ยงทำให้ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (ค่า pH) และอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลง คุณภาพของน้ำจึงไม่เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งและกุ้งมีโอกาสติดโรคและตายสูง ทำให้เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งก่อนเวลาอันสมควรเพื่อหลีกเลี่ยง “กุ้งน็อคน้ำฝน” ซึ่งโอกาสตายสูง เมื่อเกษตรกรเร่งจับกุ้งผลผลิตก็ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ราคาจึงตกต่ำตามกลไกตลาด (Demand-Supply)


ข้อเท็จจริง คือ ราคากุ้งไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น กุ้งขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัมราคาเดือนมกราคมอยู่ที่ 286 บาทต่อกิโลกรัม และตกลงเหลือ 236 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนสิงหาคม หลังคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) มีมติให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย 10,501 ตัน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ในเวลานั้นคณะกรรมการฯ ยืนยันว่าการนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศไม่กระทบราคาในประเทศ และยังมีโครงการประกันราคาขั้นต่ำกุ้งขาว โดยห้องเย็นที่เข้าร่วมโครงการจะรับซื้อกุ้งกรณีที่ราคากุ้งในประเทศตกต่ำกว่าราคาตลาด ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดเกินกว่าเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กจะทำได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องตรวจโรคกุ้ง ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การรับซื้อไปจนถึงสิ้นปี 2565

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรีชา สุขเกษม ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว ตัวเขาเองเพิ่งจับกุ้งขนาด 44-48 ตัวต่อกิโลกรัม ได้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 170-171 บาท ซึ่งกุ้งไซส์นี้ราคาเฉลี่ยก่อนมติการนำเข้ากุ้งอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม และเคยสูงถึงกิโลกรัมละ 230 บาท 


“กุ้งขนาด 50-70 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่บอร์ดกุ้งให้นำเข้ากุ้งขนาดนี้เข้ามาเพราะขาดแคลนนั้น ขณะนี้ ห้องเย็นก็ไม่สามารถรับซื้อได้ตามโครงการประกันราคา โดยให้เหตุผลว่าไม่มีห้องเย็นเก็บรักษาเพราะใช้พื้นที่ทั้งหมดในการเก็บกุ้งที่นำเข้ามาแทน ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและสร้างผลอย่างมาก บอร์ดกุ้งจะรับผิดชอบหรือมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร” ปรีชา สุขเกษม ทวงถาม 


จากตัวเลขกรมศุลกากร รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 ไทยการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ แล้วประมาณ 4,500 ตัน (ซึ่งนำเข้าจากอินเดียไม่มาก) และยังมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการขนส่งใช้เวลา 60 วัน ในการเดินทางจากเอกวาดอร์มาไทย และจะถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตน้อย

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 “Shrimp Board” แถลงข่าวผลการประชุมฯ ว่า สถานการณ์ราคากุ้งทะเลในประเทศตกลงช่วงที่ผ่านมา จากปัญหาอุทกภัย การปิดตลาดรับซื้อกุ้งในช่วงวันหยุด ตลอดจนสภาวะเงินเฟ้อของประเทศผู้รับซื้อรายใหญ่ แต่ราคาไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศไว้ โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปยังคงประกันราคารับซื้อไปจนถึงสิ้นปี 65 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง นอกจากนี้ยังได้เตรียมส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำไปจีนฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยกระเตื้อง


จากถ้อยแถลงดังกล่าว กรมประมง ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เคยลงพื้นที่ตรวจสอบห้องเย็นเพื่อหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ว่าห้องเย็นได้รับซื้อกุ้งตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้จริง หรือ ห้องเย็นอัดแน่นไปด้วยกุ้งนำเข้าที่ราคาต่ำกว่าราคาในประเทศ และอย่าให้ซ้ำรอยหมูเถื่อนที่ห้องเย็นใช้เป็นที่ซุกซ่อนหมูลักลอบนำเข้า อย่ารับฟังแต่ข้อมูล “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” อย่าเลือกปฏิบัติ ต้องเข้มงวดกับห้องเย็น เหมือนที่ห้องเย็นเข้มงวดกับเกษตรกร ตั้งเงื่อนไขหลายข้อ ที่สำคัญราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้จริงเป็นไปที่ท่านได้รับรายงานไหม


ที่ Shrimp Board มีมตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย พร้อมกำหนดราคาประกันขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไมขนาดต่าง ๆ และแจงเงื่อนไขการรับซื้อและความต้องการวัตถุดิบกุ้งของโรงงาน นัยว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและสร้างความเชื่อมั่นในการลงกุ้งให้กับเกษตรกร เพื่อเป้าหมายผลผลิตกุ้ง 400,000 ตัน ในปี 2566 จะสามารถบรรลุความสำเร็จได้จริง เพราะปัจจัยส่งเสริมการผลิตที่เป็นรูปธรรมยังเลือนลาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง