รีเซต

"ปลากัด" ไทยครองใจตลาดโลก ส่งออกสัตว์น้ำสวยงามพุ่งทะลุ 1,000 ล้านบาท

"ปลากัด" ไทยครองใจตลาดโลก ส่งออกสัตว์น้ำสวยงามพุ่งทะลุ 1,000 ล้านบาท
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2568 ( 14:37 )
24

กรมประมงเผยอุตสาหกรรมสัตว์น้ำสวยงามของไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ปลากัด ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น สัตว์น้ำประจำชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท หรือร้อยละ 40 ของการส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมดของประเทศ

โดยในปี 2567 ประเทศไทยส่งออกสัตว์น้ำสวยงามรวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของมูลค่าตลาดโลกที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ตามสถิติของธนาคารโลก ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกสัตว์น้ำสวยงามอันดับต้นของโลก

สัตว์น้ำที่ส่งออกหลักได้แก่

 • ปลากัด (40%)

 • ปลาทอง (7.3%)

 • ปลาหางนกยูงและปลาสอด (6.4%)

 • กุ้งสวยงาม (5.8%)

 • ปลาหมอสีและปลาออสการ์ (3.9%)

 • ปลาสวยงามพื้นเมือง เช่น ปลาซิว ปลาก้างพระร่วง


ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่

 • สหรัฐอเมริกา (20%)

 • สหภาพยุโรป (13.2%)

 • จีน (10%)


เพื่อส่งเสริมการส่งออกอย่างยั่งยืน กรมประมงเดินหน้าพัฒนาแผนปฏิบัติการสัตว์น้ำสวยงาม พ.ศ. 2566–2570 ครอบคลุม 4 ยุทธศาสตร์ 13 แนวทาง ได้แก่

 1. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

 2. การจัดการระบบมาตรฐานและฐานข้อมูล

 3. การเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร

 4. การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ


กรมประมงยังร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ขยายช่องทางขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิต โดยทดสอบความพร้อมในการจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์ ซึ่งสามารถรองรับสัตว์น้ำได้แล้วถึง 10 ชนิด รวมทั้ง ปลากัด ปลาสอด กุ้ง หอย พรรณไม้น้ำ สาหร่ายทะเล และเห็ดทะเล โดยมีแผนเปิดบริการขนส่งสัตว์น้ำไปต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยจะช่วยให้เกษตรกรไทยส่งออกสัตว์น้ำได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพิ่มรายได้ สร้างโอกาสการแข่งขันในระดับโลก และลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ขณะเดียวกัน กรมประมงยังเดินหน้าจัดงาน “ประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35” ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ ภายในงานมีการประกวดปลาสวยงาม 7 ชนิด มากกว่า 3,000 ตู้ รวมถึงการแข่งขัน “The 19th TNPA All Thailand Koi Show 2025” โดยมีทีมกรรมการจากประเทศญี่ปุ่นตัดสิน พร้อมการแสดงสายพันธุ์ปลานำเข้าและส่งออก หวังดึงดูดนักเพาะเลี้ยง นักลงทุน และเยาวชนรุ่นใหม่ เข้าร่วมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำสวยงามของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง