ห้ามพลาด!! "งิ้วแต้จิ๋ว" 7 วัน 16 เรื่อง ฉลอง 50 ปีแห่งการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) นำของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังนำศิลปะชั้นสูงของจีน "งิ้วแต้จิ๋ว" กลับมาแสดงสดครั้งประวัติศาสตร์ในเมืองไทย ภายใต้ชุดการแสดง "มหาอุปรากรสะท้านปฐพี"
โดยคณะกึงตังเตี่ยเกี๊ยะอี่อิ๊กท้วง คณะงิ้วแต้จิ๋วอันดับหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งนำเสนอ 16 บทละครไม่ซ้ำตลอด 7 วัน เพื่อเป็น "ของขวัญแห่งมิตรภาพ" ให้กับประชาชนชาวไทย และชาวจีน การแสดงครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2568 ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ไทยเบฟเวอเรจ Huawei ZTE Midea และ Tencent
"งิ้วแต้จิ๋ว" เป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่กว่า 590 ปี ที่มีต้นกำเนิดจากภาคใต้ของจีนในยุคราชวงศ์ซ่งและหยวน โดดเด่นด้วยเสียงร้องในสำเนียงแต้จิ๋ว การเคลื่อนไหวที่ประณีต ท่าทางที่เป็นระบบ ดนตรีพื้นบ้านอันไพเราะ และสีสันแห่งท้องถิ่นจนได้รับการขนานนามว่า "ดอกไม้แห่งภาคใต้" ซึ่งกลายเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญและสายใยเชื่อมโยงจิตวิญญาณของชาวแต้จิ๋วทั่วโลก รวมนักแสดงกว่า 80 ชีวิต กับการแสดง 7 วัน 16 เรื่อง โดยคณะกึงตังเตี่ยเกี๊ยะอิ๊กท้วง คณะอุปรากรแต้จิ๋วอันดับ 1 จากจีน แสดงสด ดนตรีสด ร้องจริงทุกรอบ พร้อมคําบรรยายจีนและไทย พร้อมกันที่ทรู ไอคอน ฮอลล์ ไอคอน สยาม วันที่ 10-16 กรกฎาคม 2568 นี้
การแสดง "งิ้วแต้จิ๋ว" 7 วัน 16 เรื่อง มีดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน ยุทธภูมิ "สี่หนึ่งจิว"
เรื่องราวเริ่มจากช่วงปลายราชวงศ์ซ่งใต้ เมื่อกองทัพมองโกล (ราชวงศ์หยวน) บุกรุกลงใต้ ฮ่องเต้ซ่งต้องหนีไปตั้งค่ายอยู่ที่อ่าวหยามุ่นกลางทะเล "เตียตั๊ก" ขุนพลแห่งแคว้นเฉาโจว ได้ปฏิเสธไม่ร่วมรบ เพราะหมดศรัทธาในราชสำนัก แต่ภรรยาของเขา "ตั่งเปี๊ยะเนี้ย" กลับเตือนให้คิดถึงบ้านเมืองมากกว่าความผิดหวังส่วนตัว จน "เตียตั๊ก" ยอมออกศึก แต่สงครามกลับจบลงด้วยความพ่ายแพ้ กองทัพหยวนบุกเผาค่ายซ่งและจับเตียตั๊กได้ กองทัพหยวนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนน แต่ตั่งเปี๊ยะเนี้ยกลับช่วยเหลือชาวบ้านให้หลบหนี แล้วต่อสู้กับกองทัพหยวนอย่างกล้าหาญจนวาระสุดท้ายของชีวิต
วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน "มเหสีฮั่งบุ๊ง"
เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าฮั่นเหวินตี้ทรงแต่งตั้ง "โต้วจี" เป็นมเหสี และทรงช่วยตามหา "โต้วกว่างผิง" น้องชายที่พลัดพรากกันไป 12 ปี หลังทั้งคู่ได้พบกันไม่นาน "โต้วกว่างผิง" ก็ถูกพ่อค้าเจ้าเล่ห์ออกอุบายให้ "โต้วกว่างผิง" สังหารเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุเพราะขณะนั้นฮ่องเต้ทรงเริ่มกวาดล้างพ่อค้าที่เอาเปรียบประชาชน ทำให้ "โต้วกว่างผิง" ต้องโทษประหารชีวิต โต้วจี้ในฐานะมเหสีและในฐานะพี่สาว ต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง "ความรักพี่น้อง" กับ "กฎหมายบ้านเมือง" แม้จะเสียใจมาก แต่เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม มเหสีจึงตัดสินใจให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ฮ่องเต้จึงได้พระราชทานยาพิษให้โต้วกว่างผิงจบชีวิตตัวเอง ซึ่งก่อนที่จะลาจากโต้วจีร่ำลาน้องชาย พร้อมเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ชี้แจงความผิดและผลกระทบที่เกิดขึ้น จนน้องชายสำนึกผิด และยอมรับโทษอย่างสงบ
วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน "กตัญญูสู้อยุติธรรม"
จอหงวน "โกวเค่งฮุ้ง" พร้อมด้วยมารดาและ "เหี่ยเหง็กบ๊วย" ภรรยาอาศัยอยู่ในบ้านญาติผู้เป็นเสนาบดีเห่งเชียงเต๋า เสี่ยวสิ่วบุตรชายเสนาบดี ฉวยโอกาสลวนลามตอนที่เหง็กบ๊วยอธิษฐานขอพรในสวน เมื่อแม่สามีได้ยินเสียงออกมาจะสอบถาม แต่กลับถูกเสี่ยวสิ่วฆ่าตายเพื่อปิดบังความผิด เสนาบดีเชียงเต๋าปกป้องลูก จึงโยนความผิดให้เหง็กบ๊วยในข้อหาสะใภ้ที่ฆ่าแม่สามี กลายเป็นนักโทษอย่างไม่ได้รับความยุติธรรม ในขณะที่เหง็กบ๊วยกำลังจะถูกประหาร "โกวสิ่ง" คนรับใช้ได้เข้ามาเป็นพยานได้ทันเวลา เมื่อความจริงปรากฏ เค่งฮุ้งซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิพากษาในคดีนี้ ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของเสนาบดีใหญ่ จึงตัดสินประหารชีวิตเสี่ยวสิ่วผู้เป็นฆาตกรตัวจริง
วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน "พระโมคคัลลานะ โปรดโยมมารดา"
เรื่องราวทางพุทธศาสนาสายมหายาน เล่าถึงความกตัญญูของ "หมักเลี้ยง" (พระโมคคัลลานะ) ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมความดี แต่มารดา "ลิ้วซี" กลับฝ่าฝืนคำสอนของบรรพบุรุษ กดขี่ข่มเหงผู้อื่นจนต้องประสบเคราะห์กรรม ตกอยู่ในภาวะเป็นตายเท่ากัน "หมักเลี้ยง" จึงตัดสินใจเดินทางไกลเพื่อช่วยมารดา ฝ่าฟันอุปสรรคอันตราย แม้แต่ดินแดนยมโลก แต่ด้วยใจยึดมั่นในกตัญญู เขาใช้ความเพียรพยายามฝ่าด่านต่าง ๆ จนเหล่ายมทูตซาบซึ้งใจ และสามารถช่วยมารดาออกมาได้ในที่สุด
วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน "องค์หญิงโป๊ยป้อและเต็กเช็ง"
รัชสมัยซ่ง กองทัพจากไซแห่เข้ามารุกรานชายแดน "เอี่ยจงเป้า" แม่ทัพใหญ่แห่งเมืองซ่งพลาดท่า ถูกล้อมกรอบอยู่ที่ด่านไก้ไป๊ ทหารกล้า "เต็กเช็ง" นำทัพช่วยเหลือ แต่ระหว่างทางได้ล้ำเข้าเมืองเสี่ยงเสียง พันธมิตรของซ่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อองค์หญิง "โป๊ยป้อ" แห่งเสี่ยงเสียง พบ "เต็กเช็ง" วีรบุรุษสง่างาม จึงบังเกิดเป็นความรักแรกพบและหมายจะให้เต็กเช็งเป็นราชบุตรเขย หากแต่เต็กเช็งยึดมั่นในหน้าที่ เป็นห่วงชายแดน จึงปฏิเสธการอภิเษก และรีบมุ่งไปชายแดนเพื่อช่วยแม่ทัพเอี่ยจงเป้า เมื่อสงครามคลี่คลาย แต่องค์หญิงโป๊ยป้อที่ยังโกรธเคืองเต็กเช็งที่หนีการแต่งงานและพยายามจะนำตัวเต็กเช็งกลับเมืองเสี่ยงเสียงให้ได้ เต็กเช็งเกรงอาญาหากแต่งงานกับเจ้าหญิงต่างแคว้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชสำนัก ทำให้ทั้งสองมีปากเสียงกัน เมื่อแม่ทัพเอี่ยจงเป้าได้ข่าวจึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้ทั้งคู่เข้าใจกัน
วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" รวมฉากเด่นจาก 10 เรื่องดัง ที่ได้รับความนิยมสูง
1. "หวนพบกันที่นครหลวง" เมื่อปลายสมัยราชวงศ์ซ่ง อัครเสนาบดี "เหล่าโหมว" จัดตั้งปะรำพิธีเพื่อคัดเลือกลูกเขยให้แก่ "หง่วยง้อ" ลูกสาว ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ไม่หลงใหลในลาภยศ แต่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถ เธอเลือกชายหนุ่มยากจนแต่มีปัญญาคือ "หลื่อหม่งเจ่ง" แต่ผู้เป็นพ่อเห็นว่าชาติตระกูลไม่เหมาะสม จึงต้องการผิดสัญญา ทว่าลูกสาวไม่ยอมจึงถูกขับออกจากจวนของท่านเสนาบดีไปอยู่กระท่อมร่วมกับหลื่อหม่งเจ่ง ปีต่อมา หลื่อหม่งเจ่งสอบไล่ได้ตำเหน่งจอหงวน จึงส่งคนไปรับศรีภรรยามายังนครหลวง ทั้งคู่จึงได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขอีกครั้ง
2. "สัญญารักในสวนดอกไม้" เรื่องจะกล่าวถึง "ซูหลักนึง" หญิงสาวผู้เฉลียวฉลาด อาศัยอยู่กับลุงเพื่อศึกษาเล่าเรียนที่ตำบลไซหลู ระหว่างนั้นเธอกับญาติหนุ่ม "ก๊วกเก็กชุน" เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เล็ก ความผูกพันค่อย ๆ ก่อตัวเป็นความรัก เมื่อถึงเวลา "ก๊วกเก็กชุน" เตรียมตัวออกเดินทางไปสอบจอหงวน ทั้งสองได้นัดพบกันในสวนดอกไม้ และแอบสาบานรักต่อกัน ลั่นวาจาผูกพันว่าจะครองคู่กันไปชั่วชีวิต
3. "เปาบุ้นจิ้นขอขมา" โป๊ยกง (เปาบุ้นจิ้น) ได้รับพระราชโองการให้เดินทางไปยังแคว้นเฉ่งจิว เพื่อแจกจ่ายเสบียงช่วยเหลือราษฎร ระหว่างทางที่ศาลาพัก ได้พบชาวบ้านพบชาวบ้านมาร้องเรียนว่า "โป๊ยเมี่ยง" (ญาติของเขา) ที่ข่มเหงประชาชนและยักยอกเสบียงบรรเทาทุกข์ โป๊ยกง จึงตัดสินคดีอย่างยุติธรรมและสั่งประหาร โป๊ยเมี่ยง ตามกฎหมาย แม้จะเป็นญาติสายตรงของตนเอง
4. "โรงเตี๊ยมทางสามแพร่ง" "ลิ้วลี่ฮวย" เจ้าของโรงเตี๊ยมที่พยายามช่วยเหลือ "แก๊วจั่น" ที่ถูกขุนนางชั่วร้ายกลั่นแกล้งและเนรเทศ ระหว่างการช่วยเหลือ "ลิ้วลี่ฮวย" เกิดเข้าใจผิดกับ "อึ้งถังฮุ้ย" นายทหารภายใต้บังคับบัญชาของ "หยางเองจิว" ที่แอบคอยปกป้อง "แก๊วจั่น" อยู่ ทั้งสองจึงปะทะกันในยามค่ำคืนอย่างดุเดือด ในขณะที่สู้กันอย่างไม่รู้แพ้รู้ชนะ ภรรยาของลิ้วลี่ฮวยก็ได้ช่วยแก๊วจั่นออกมาได้สำเร็จ ทุกคนจึงได้พบกันและปรับความเข้าใจผิด จึงตกลงร่วมมือกัน เดินทางไปทำภารกิจยิ่งใหญ่ต่อไป
5. "ลำนำเพลงรัก" รื่องราวของชายหนุ่มนามว่า "หลีหมั่งเล้ง" เป็นบุตรชายของผู้ว่าการแคว้น หมั่งเล้งออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสารทเดือนห้า และได้พบเจอกับ "ชุงเฮียง" ซึ่งเป็นนางคณิกา ต่อมาหมั่งเล้งได้รับคำสั่งให้กลับบ้านเพื่อดูแลมารดา แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พาชุงเฮียงไปด้วย ทั้งสองจึงจำต้องพลัดพรากจากกัน สะท้อนความงดงามของความรักแท้ที่เกิดจากความผูกพันและความซื่อสัตย์ แม้จะมีอุปสรรคและการพรากจาก แต่ความทรงจำและคำมั่นสัญญายังคงตราตรึงอยู่ในใจ
6. "นารีกำสรวล" หญิงชาวนายากจนคนหนึ่ง ต้องจำใจยอมให้สามีขายตนเองออกไปทำงานไกลบ้านนานถึงสามปี เมื่อถึงวันครบกำหนด ระหว่างเดินทางกลับบ้าน หัวใจของคนเป็นแม่เต็มไปด้วยความคิดถึงลูกชายทั้งสอง วาดหวังให้ "ชุงป้อ" บุตรชายคนโตมีชีวิตและสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน ทว่า พอก้าวเข้าประตูบ้าน สิ่งที่พบคือ "ชุงป้อ" กลับป่วยหนักจนแทบไม่ไหว
7. "สารโยงสายใย" เรื่องราวของ "เหล่าตี้เอี้ยง" ที่คิดว่า "ลีซาเนี้ย" ภรรยาเก่าเสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่คาดคิดว่านางยังมีชีวิตอยู่ และได้พบกับ "เหล่าก่าไจ๊" ลูกชายโดยบังเอิญ พร้อมทั้งฝากจดหมายให้กับ "เหล่าตี้เอี้ยง" เมื่อ "เหล่าก่าไจ๊" รู้ว่าหญิงที่ตนได้พบคือมารดาผู้ให้กำเนิด ก็ตื้นตันใจจนร้องไห้เสียงดังพร้อมกับโหยหาแม่แท้ ๆ ก็เผลอพูดจาไม่เหมาะสมกับแม่เลี้ยง "หงักสี" แต่ด้วยความรักที่มีต่อลูก และซาบซึ้งในความจริงใจของเขา จึงตัดสินใจขอร้องสามีให้รับ "ลีซาเนี้ย" กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง
8. "ปิ่นทองอลเวง" เรื่องราวของคุณชายเจ้าสำราญ "หู่เลี้ยง" ระหว่างทางกลับบ้านจากหอนางโลม เก็บปิ่นทองได้ที่หน้าห้องของ "เหล่งเซ็ง" ชายหนุ่มที่มาขอพักอาศัยชั่วคราว จึงเกิดสงสัยว่าน้องสาวของตนอาจมีเรื่องเกี่ยวข้องกับ "เหล่งเซ็ง" จึงไปอาละวาดกับน้องสาวตนเอง และถึงกับพนันกับสาวใช้ชื่อ "เซียวเอ็ง" ว่าเขาจะพิสูจน์ให้ได้ว่าปิ่นนั้นเป็นของน้องสาว แต่สุดท้ายปรากฏว่า ปิ่นทองที่เก็บได้คือปิ่นของหญิงจากหอนางโลม เมื่อความจริงเปิดเผย หู่เลี้ยงจึงต้องชดใช้กรรม ไม่เพียงแต่โดยมารดาตำหนิอย่างรุนแรง แต่ยังถูกเซียวเอ็งตีด้วยไม้ไผ่ให้ได้อายอีกด้วย
9. "วีรบุรุษ อ่วงฉ่งห่วง" ต้นรัชสมัยฉ่งเจ็ง พื้นที่แถบเหลี่ยวตังมักถูกชาวหูรบกวนอยู่เสมอ ฮ่องเต้ฉ่งเจ็งจึงเรียกใช้ "อ่วงฉ่งห่วง" แม่ทัพใหญ่ซึ่งเคยถูกปลดในรัชกาลก่อน ให้กลับมารับราชการอีกครั้ง พร้อมรับราชโองการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองอีกครั้ง พวกหูคร้ามเกรงความเกรียงไกรทัพตระกูลอ๊วง จึงไม่กล้าบุกโจมตีโดยตรง แต่เลือกใช้วิธีอ้อมเพื่อเข้าล้อมเมืองหลวง "อ่วงฉ่งห่วง" เร่งควบม้าไปช่วยเมืองหลวง แต่ฮ่องเต้กลับหลงเชื่อคำยุแยงเกิดความสงสัยความภักดีของ "อ่วงฉ่งห่วง" และตกหลุมแผนการของศัตรู จึงตัดสินใจปลดแม่ทัพท่ามกลางสถานการณ์คับขันและสั่งควบคุมตัวเข้าคุกหลวงทันที
10. "หวนพบที่บ้านสกุลจก" เนื้อเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าเมื่อ "เหนี่ยซัวแปะ" ได้กลับมาพบกับ "จ๊กเอ็งไท้" ที่อยู่ในชุดเจ้าสาว "เหนี่ยซัวแปะ" ดีใจเมื่อพบว่า "น้องชายคนสนิท" แท้จริงคือหญิงสาวในดวงใจ ทั้งสองต่างเปิดเผยความรู้สึกในใจต่อกัน แต่ "จ๊กเอ็งไท้" กลับมีสีหน้าอมทุกข์และเก็บงำความเศร้าไว้ในใจ เพราะโชคชะตาได้กำหนดไว้แล้วว่า "ชาติภพนี้ยากจะได้ครองคู่" การกลับมาพบกันครั้งนี้ จึงกลายเป็นการลาจากตลอดกาล
วันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568
"งิ้วแต้จิ๋ว" ตอน "พยัคฆ์ปักไหม"
เรื่องราวดัดแปลงจากวรรณกรรมจีนอมตะ "สามก๊ก" โดยมี "เฉาจื้อ" กวีผู้มีพรสวรรค์แห่งปลายราชวงศ์ฮั่นเป็นตัวเอก "พยัคฆ์ปักไหม" เป็นสมญานามที่ "โจโฉ" ตั้งให้กับบุตรชายผู้นี้ เพื่อสื่อถึงความประณีตละเอียดอ่อน ทว่าทรงพลังดั่งเสือที่ปักด้วยไหมทอง
นับเป็นผลงานการประพันธ์ของ ก๊วยขีฮ้ง (จีนกลาง - กัวฉี่หง) หนึ่งใน "สามเสาหลักแห่งวงการละครจีนร่วมสมัย" จากโรงละครศิลปะประชาชนปักกิ่ง กำกับโดย ศาสตราจารย์โหล่วงัง (หลูอั๋ง) ประธานภาควิชาผู้กำกับแห่งสถาบันการละครเซี่ยงไฮ้ และแสดงนำโดย หลิ่ม อี้ ฮุ้ง (หลิน เหยียน หยุน) ศิลปินรางวัลบ่วยฮวย (เหมยฮวา) และผู้แทนสภาประชาชนแห่งชาติ
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อโจโฉ ผู้มากด้วยบารมี ตัดสินใจเลือกผู้สืบทอดอำนาจท่ามกลางบุตรทั้งสองคน คือ "เฉาพี" ผู้ทะเยอทะยาน และ "เฉาจื้อ" ผู้มีสติปัญญาและอ่อนน้อม โจโฉปรารถนาให้เฉาจื้อเป็นผู้สืบทอด เนื่องจากมองเห็นในตัวเขาความสามารถทั้งทางบู๊และบุ๋น ทว่าพลังสนับสนุนทางการเมืองกลับเอียงไปทางเฉาพี ทำให้สุดท้าย โจโฉจำต้องยกตำแหน่งให้แก่ผู้มีแรงสนับสนุนมากกว่า
เมื่อโจโฉสิ้นชีวิต เฉาพีขึ้นครองอำนาจด้วยความระแวง ไม่ไว้วางใจน้องชายผู้เป็นที่รักของประชาชน จึงวางแผนทดสอบเฉาจื้อด้วยเงื่อนไขอันโหดเหี้ยม ให้แต่งบทกวีภายในเจ็ดก้าว หากล้มเหลวจะถูกประหาร ช่วงเวลานั้นเองที่บทกวี "เถาถั่วเผาต้นถั่ว" อันลือลั่นจึงถือกำเนิดขึ้น เปรียบเปรยความเจ็บปวดจากความรุนแรงภายในครอบครัวที่หักร้าว ไม่ต่างจากเมล็ดถั่วที่ถูกเผาด้วยเปลือกของมันเอง
ห้ามพลาด "งิ้วแต้จิ๋ว" โดยคณะกึงตังเตี่ยเกี๊ยะอี่อิ๊กท้วง คณะงิ้วแต้จิ๋วอันดับหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ตลอด 7 วัน เพื่อเป็น "ของขวัญแห่งมิตรภาพ" ให้กับประชาชนชาวไทย และชาวจีน การแสดงครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2568 ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม