รีเซต

ประกันคุ้มครองสินเชื่อคืออะไร? ทำไมต้องทำ?

ประกันคุ้มครองสินเชื่อคืออะไร? ทำไมต้องทำ?
TrueID
21 ตุลาคม 2564 ( 10:54 )
1K

ประกันคุ้มครองสินเชื่อ หรือประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ ซึ่งก็มีความหมายตรงตัวคือ เป็นการประกันความเสี่ยงในการชำระหนี้ ซึ่งประกันนี้จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้กู้ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้กู้ก่อนสัญญาสินเชื่อจะสิ้นสุด พูดง่ายๆก็คือหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันกับผู้กู้ ในระหว่างที่ยังคงมีหนี้ค้างชำระ บริษัทประกันก็จะรับภาระชำระเงินกู้ส่วนที่เหลืออยู่แทนผู้กู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ข้างหลังผู้กู้ ไม่ต้องมารับภาระแทนผู้กู้ และจะสร้างความสบายใจให้แก่ผู้กู้ได้เช่นกัน เป็นอย่างไร TrueID จะพาไปรู้จักกัน

 

ประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ 

 

คือประกันชีวิตที่มีจุดประสงค์สำหรับคุ้มครองตัวผู้ขอสินเชื่อ ตามระยะเวลาที่ยังถือครองสินเชื่อนั้นๆ โดยในระยะเวลาที่ประกันยังมีผลความคุ้มครองอยู่ จุดประสงค์หลักเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อ หากเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้ผู้ขอสินเชื่อทุพพลภาพ หรือถึงแก่ชีวิต บริษัทที่รับทำประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อจะชดเชยเป็นเงินก้อนและรับผิดชอบการชำระค่างวดคงเหลือทั้งหมดแทนผู้เสียชีวิตนั่นเอง

 

จำเป็นต้องทำประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อหรือไม่?


จริงๆ แล้วในการยื่นขอสินเชื่อ การทำประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อนั้นไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการพิจารณาประกันสินเชื่อ เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ยื่นขอสินเชื่อเป็นหลัก แต่กันไว้ดีกว่าแก้เพราะจริงๆแล้วประกันประเภทนี้นับว่าเป็นประกันที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีใครรู้ถึงอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยไม่คาดคิด เราจะต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่เสมอ
 
โดยประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อนั้น สามารถผ่อนชำระค่างวดได้อย่างอุ่นใจและใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวล อีกทั้งให้คุณสบายใจได้ว่าคนที่คุณรักจะไม่ลำบากหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

 

แล้วความคุ้มครองเป็นอย่างไรบ้าง

 

ส่วนใหญ่แล้ว ประกันคุ้มครองสินเชื่อจะให้จำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าจำนวนวงเงินของการทำสินเชื่อ และระยะเวลาคุ้มครองจะไม่น้อยกว่าระยะเวลาในการผ่อนชำระสินเชื่อ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองจากการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร หรือ เสียชีวิต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ที่เงื่อนไขของแต่ละบริษัท ฉะนั้นจึงควรอ่านและทำความเข้าใจในเงื่อนไขของประกันโดยเฉพาะสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ

 

การรับผลประโยชน์

 

ประกันคุ้มครองสินเชื่อมักจะกำหนดในสัญญาให้บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก ซึ่งผู้รับผลประโยชน์หลักจะได้รับเงินผลประโยชน์ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ผู้เอาประกันค้างชำระอยู่ และส่วนเงินผลประโยชน์ที่เกินจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระอยู่จะตกเป็นของผู้เอาประกันในกรณีที่ผู้เอาประกันเกิดการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือจะตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์รองตามที่ผู้เอาประกันระบุไว้ในหนังสือสัญญาในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

 

รูปแบบเงินเอาประกัน

 

ในแผนประกันคุ้มครองสินเชื่อนั้นอาจจะเสนอเงินเอาประกันภัยเป็น 2 รูปแบบ นั้นก็คือ

 

1. จำนวนเงินเอาประกันที่ลดลง

จำนวนเงินเอาประกันที่ลดลง หมายถึง แผนประกันสินเชื่อที่จำนวนเงินเอาประกันที่ปรับลดลงตามระยะเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนหนี้สินที่ค้างชำระที่จะลดลงเรื่อยๆตามระยะเวลาผ่อนชำระ หรือพูดง่ายๆก็คือ

หากผู้เอาประกันเกิดเหตุไม่คาดฝันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งตามความคุ้มครองของประกันก็จะสามารถเอาเงินประกันจากบริษัทประกันตามที่ระบุไว้ในตารางแสดงจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงตามช่วงเวลานั้นๆจำนวนเงินเอาประกันภัยคงที่

 

2. แผนประกันภัยแบบเอาเงินประกันคงที่

คือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่อยู่ในความคุ้มครองของประกันในช่วงเวลาใดตามตลอดระยะเวลาคุ้มครองก็จะได้เงินเต็มจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ โดยที่ไม่มีผลต่อช่วงเวลาในการเกิดเหตุการณ์

 

และในหลายบริษัทประกันฯ อาจมีรูปแบบการจ่ายเงินเอาประกันแบบผสมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไข แล้วข้อเสนอของบริษัทนั้นๆด้วย ฉะนั้น ผู้ทำประกันคุ้มครองสินเชื่อจึงควรอ่านและทำความเข้าใจในเงื่อนไขของประกันโดยเฉพาะสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ เพื่อจะได้ทราบของผลประโยชน์ที่จะได้รับแก่ตัวผู้ทำประกันเอง

 

เมื่อมีหลักทรัพย์ในการทำสินเชื่อแล้ว ทำไมยังต้องทำประกันคุ้มครองสินเชื่ออีก?


ก็เพราะลูกค้าที่มาขอสินเชื่อก็ไม่ได้มีต้องการจะให้ยึดหลักทรัพย์จากการทำสินเชื่ออยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นคงเอาหลักทรัพย์ไปจำหน่ายน่าจะตรงจุดประสงค์มากกว่า ฉะนั้นการทำประกันคุ้มครองสินเชื่อ จะเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรกับผู้ขอสินเชื่อ ก็จะมีประกันคุ้มครองสินเชื่อมาชำระหนี้แทนได้และทำให้หลักทรัพย์ของผู้ขอสินเชื่อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอสินเชื่อ หรือครอบครัวผู้ขอสินเชื่อต่อไป

 

แล้วการทำประกันคุ้มครองสินเชื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการสินเชื่อฝ่ายเดียวหรือไม่?

 

การที่ลูกค้าถือกรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าสินเชื่อโดยตรงอยู่แล้ว เพราะบริษัทประกันจะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นลูกค้าทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้อีกต่อไป เพราะถ้าหากลูกค้าไม่มีประกันคุ้มครองสินเชื่อ แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ หน้าที่รับผิดชอบก็ยังคงติดตัวเป็นพันธะของผู้กู้อยู่ดี ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้เสียหลักทรัพย์ค้ำประกันไปหรืออาจจะต้องสืบทรัพย์สินส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อมาใช้ชำระหนี้ จนกลายเป็นภาระคนข้างหลังได้ และหากว่าเงินเอาประกันสูงกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ถือกรมธรรม์ หรือผู้รับผลประโยชน์รองก็จะได้รับเงินส่วนต่างที่เกินจากหนี้ค้างชำระด้วย

 

แม้ว่าสินเชื่อจะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยต่อชีวิต ต่อโอกาสให้แก่ผู้กู้ได้ แต่ก็ยังเป็นข้อผูกมัดระยะยาวและในอนาคตก็เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ประกันคุ้มครองสินเชื่อจึงเป็นตัวช่วยที่จะให้เราสบายใจได้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับเราในอนาคต หนี้สินที่เราก่อก็จะไม่ส่งผลกระทบให้กลายเป็นภาระไปยังคนที่อยู่ข้างหลังเราได้ แต่การจะทำประกันใดๆก็ตามก็ต้องอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจในเงื่อนไขของประกันนั้นๆให้เข้าใจชัดเจนเสียก่อนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

 

ข้อมูล : เงินเทอร์โบ , เงินติดล้อ

รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง