รีเซต

นาซาทดสอบ SHIELD เทคโนโลยีลงจอดบนดาวอังคารแบบใหม่

นาซาทดสอบ SHIELD เทคโนโลยีลงจอดบนดาวอังคารแบบใหม่
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2565 ( 05:53 )
47

นาซา (NASA) ประสบความสำเร็จกับการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารมาแล้วกว่า 9 ครั้ง ด้วยการอาศัยแรงต้านจากร่มชูชีพ เพื่อชะลอความเร็ว, อาศัยแรงขับจากเจ็ตแพก เพื่อให้ยานอวกาศเคลื่อนตัวไปเหนือตำแหน่งที่ต้องการลงจอด และอาศัยถุงลมกันกระแทก เพื่อป้องกันแรงกระแทกจากพื้นผิว


SHIELD หรือ Simplified High Impact Energy Landing Device 

แต่วิศวกรของนาซากำลังสงสัยว่าวิธีที่ง่ายที่สุดในการลงจอดบนดาวอังคารอาจเป็นการพุ่งชนพื้นผิว โดยทีมวิศวกรได้ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าชีล (SHIELD หรือ Simplified High Impact Energy Landing Device) ซึ่งทำงานคล้ายกับเปลือกของยานอวกาศสำหรับดูดซับแรงกระแทกขณะที่ยานอวกาศพุ่งชนพื้นผิว 

โดยปัจจุบันทีมวิศวกรที่เจพีแอล (JPL หรือ Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาในแคลิฟอร์เนียใต้ได้ทดลองตัวต้นแบบของชีลด้วยการปล่อยมันจากความสูง 90 ฟุต หรือประมาณ 27 เมตร ด้วยความเร็วในการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร 110 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผลการทดสอบพบว่าสมาร์ตโฟนที่อยู่ภายในชีลไม่ได้รับผลกระทบจากแรงกระแทกที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นทีมวิศวกรจึงอนุมานได้ว่าชีลสามารถดูดซับแรงกระแทกได้

ประหยัดต้นทุนการลงจอด 

ในอนาคตหากชีลถูกนำมาใช้ในภารกิจลงจอดบนดาวอังคาร มันจะช่วยประหยัดต้นทุนในการลงจอดไปได้มาก และลดขั้นตอนในการลงจอดลง อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นไปได้ในการลงจอดพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้มากขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ชีลยังสามารถนำมาใช้กับการลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้ด้วย


ลู เกียร์ช (Lou Giersch) จากเจพีแอลกล่าวว่า “เราอาจสามารถลงจอดในพื้นที่ทุรกันดารได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเราไม่ต้องการเสี่ยงลงจอดรถโรเวอร์มูลค่าหลายพันล้าน ด้วยระบบลงจอดที่เรามีในปัจจุบัน และเราอาจสามารถลงจอดในพื้นที่ทุรกันดารได้หลาย ๆ ตำแหน่ง เพื่อสร้างเครือข่าย”

ข้อมูลและภาพจาก www.jpl.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง