รีเซต

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 14.24 ล้านล้าน 89.3% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 14.24 ล้านล้าน 89.3% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน
มติชน
22 พฤศจิกายน 2564 ( 14:23 )
71

สภาพัฒน์ ชี้ หนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้น 5% พบ เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตโตต่อเนื่อง 2 ไตรมาส หนี้นอกระบบยังน่าเป็นห่วง เพิ่มถึง 1.5 เท่าจากปี 62

 

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ของปี 2564 มีมูลค่ากว่า 14.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ที่อยู่ระดับ 4.7% หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน

 

นายดนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วน หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจาก 3.04% ในไตรมาสก่อนมาเป็น 3.51% รวมทั้งลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

 

“สินเชื่อบัตรเครดิตมีสัญญาณหนี้เสียเพิ่ม ฉะนั้น ต้องดูแลคุณภาพหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องประชาสัมพันธ์การแก้ปัญหาให้ทั่วถึง ซึ่งมีมาตรการออกมาเป็นการรวมหนี้ของภาคธุรกิจ และบุคคลด้วย”นายดนุชา กล่าว

 

นายดนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ 2) ผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

 

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น 2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ และ 3. การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง