รีเซต

คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : เปิดมุมมอง “วสันต์-สุภัทรา” 2 กมส. สิทธิมนุษยชน-ทุจริตคอรัปชั่น คือเรื่องเดียวกัน

คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : เปิดมุมมอง “วสันต์-สุภัทรา” 2 กมส. สิทธิมนุษยชน-ทุจริตคอรัปชั่น คือเรื่องเดียวกัน
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2566 ( 08:34 )
91
คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : เปิดมุมมอง “วสันต์-สุภัทรา” 2 กมส. สิทธิมนุษยชน-ทุจริตคอรัปชั่น คือเรื่องเดียวกัน


เปิดมุมมอง “วสันต์-สุภัทรา” 2 กมส.


สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ระบุ ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาคอรัปชั่น มันเป็นเรื่องเดียวกัน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเนี่ยมันเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสังคมในปัจจุบันนี้นะคะ ทั้งปัญหาอาชญากรรม จีนเทา ยาเสพติด มีเรื่องของการค้ามนุษย์ มันมาจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้นเลย ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายนั้นเพราะว่ารับสินบาทคาดสินบนเนี่ย โอกาสที่คนที่เป็นอาชญากรข้ามชาติหรืออะไรต่างๆ เนี่ย จะเข้ามาทำให้เกิดปัญหาในประเทศเนี่ยก็เยอะแยะมากมาย


สิทธิมนุษยชน ทุจริตคอรัปชั่น คือเรื่องเดียวกัน


วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ - การทุจริตเนี่ยจริงๆ ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือว่า เรื่องของความไม่เสมอภาค คือโดยปกติเนี่ยทุกคนเสมอภาคกัน แต่ว่าถ้ามีการทุจริต มีการจ่ายเงินจ่ายทอง แล้วทำให้คนบางคนได้สิทธิพิเศษกว่าคนอื่น อันนี้แน่นอนที่สุดแล้ว มันก็เท่ากับว่ามันกระทบสิทธิของคนอื่นๆ เรื่องของการเข้าเรียน ถ้าสมมติว่าจะต้องมีการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหรือว่ายัดเงินเพื่อที่จะให้ลูกเข้าโรงเรียน ลูกคนจนก็จะไม่มีสิทธิ์ คนที่มีเงินหรือคนที่ยัดเงินก็สามารถที่จะเอาลูกเข้าได้ อันนี้ก็เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เด็กบางคนเนี่ยเสียโอกาสทางการศึกษา เหมือนกันครับ เวลาไปสอบเข้าที่ต่างๆ หรือในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งต่างๆ ถ้าหากว่าต้องมีระบบส่วย มีระบบของการทุจริตคอรัปชั่น ต้องใช้เงินซื้อตำแหน่ง พวกนี้มันก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม แล้วเราลองนึกดูนะครับว่า ถ้าหากว่ามีการใช้เงินพวกนี้เข้าสู่ตำแหน่ง มันก็จะมีการถอนทุนคืน การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นตามมามันก็จะไปเบียดบังผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งทรัพยากรที่ประชาชนควรได้รับ สิทธิประโยชน์ หรือว่าผลประโยชน์อะไรต่างๆ ที่ประชาชนควรจะได้รับ มันก็อาจจะลดน้อยลงไป




สิทธิมนุษยชน สิทธิที่ทุกคนต้องมี


วสันต์ ภัยหลีกลี้ - สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวนะครับ มีทั้งเรื่องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง มีสิทธิทางการศึกษา สิทธิผู้บริโภค สิทธิเรื่องที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิในเรื่องของอาชีพการงานอะไรต่างๆ มากมาย สิทธิพวกนี้เนี่ยเป็นสิทธิของทุกๆ คนที่จะต้องรักษาไว้ ทุกคนมีสิทธิมีเสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิที่จะเรียกว่าอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคกับคนอื่นๆ แล้วก็ได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันเนี่ยเมื่อเรานึกถึงสิทธิเรา ก็อยากให้นึกถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย อย่าไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น


สุภัทรา นาคะผิว ระบุว่า กสม. ไม่ได้มีอำนาจไปบังคับให้ใครต้องทำอะไรได้ เพราะอย่างที่บอกเราไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการ แต่เราเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนของชาติ เราก็ทำหน้าที่ในการชี้ว่าเรื่องใดที่มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วก็เสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเวลาเราออกข้อเสนอแนะไปเนี่ย เราก็จะมีการติดตามข้อเสนอแนะนะคะว่าข้อเสนอแนะนี้ได้ทำหรือไม่ ไม่ได้ทำเพราะอะไร ติดขัดตรงไหนยังไง จะช่วยเหลือกันยังไง อย่างที่บอกค่ะเราก็มีหน้าที่สนับสนุนให้หน่วยงานปฏิบัติตามหลักสิทธิด้วย เค้าก็อาจจะมีข้อขัดข้องจริงๆ แล้วก็มีปัญหาอุปสรรคจริงๆ นะคะ เราก็ไปช่วยกันเพื่อให้ข้อเสนอที่เราทำมาเนี่ย ได้รับการปฏิบัติจริง


สุภัทรา นาคะผิว กล่าวเพิ่มเติมว่า  เราก็จะมีคณะทำงานติดตามข้อเสนอแนะของกสม. ด้วย ไม่ได้เสนอแนะแล้วก็จบไป แล้วก็ทิ้งไป มันต้องมีกระบวนการติดตาม และที่สำคัญก็คือว่า พอเวลามีข้อเสนอแนะไปเนี่ย ไม่ใช่เฉพาะกสม. เท่านั้นนะคะที่จะต้องไปติดตาม ภาคประชาชนที่เค้าเรียกว่าเป็นผู้มาร้องเรียน หรือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เขาก็จะใช้แรงงานการตรวจสอบของเราเนี่ยไปทวงถามกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามหลายครั้งเนี่ยก็มีการฟ้องร้องคดีในศาลนะคะ แล้วก็ใช้รายงานของกทม. เนี่ยเป็นส่วนหนึ่งในเอกสารที่นำเสนอต่อศาลด้วย เมื่อก่อนเวลาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเนี่ย คนก็จะรู้สึกว่ายังเป็นเรื่องคนตะวันตก เป็นเรื่องของคนอื่นน่ะไม่ใช่เรื่องเรา แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีนะ ที่พูดว่าพวกคนที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเนี่ยเป็นพวกรับแนวคิดตะวันตก ก็เป็นมายาคติหรือเป็นความเข้าใจผิดอย่างนึงนะคะ แต่จริงๆ แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนเนี่ยมันก็มีมาโดยตลอดนะคะ แต่ว่าเมื่อก่อนคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว อาจจะด้วยว่าโลกเนี่ยมันไม่ได้เชื่อมโยงกันแบบทุกวันนี้ เทคโนโลยีมันก็ทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เห็นปรากฎการณ์เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ห่างไกลจากเราได้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกันในอดีตกับในปัจจุบันเนี่ย คนก็รู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แล้วก็ในขณะเดียวกันคนก็ตระหนักในเรื่องของสิทธิของตัวเองมากขึ้น แล้วก็เรียกร้อง หรือว่าเมื่อเวลาที่เค้าถูกละเมิดสิทธิก็กล้าที่จะออกมาทำให้ตัวเองได้รับความเป็นธรรม มากขึ้นกว่าในอดีต 


ถ้าเทียบกันกับในอดีตกับปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องของกลไกต่างๆ ด้วยนะคะ เมื่อก่อนเราก็อาจจะยังไม่มีกลไก ไม่มีกฎหมายในเรื่องของที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิมนุษย์เสียชนมากขนาดนี้นะคะ แต่ปัจจุบันเนี่ยก็ต้องบอกว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการรับรองสิทธิมนุษยชนไว้ในทั้งรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายอย่างเช่น ล่าสุดที่ออกเรื่องตัวกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่เราเรียกกันชื่อง่ายๆ ถือว่าเป็นพัฒนาการนึงนะคะว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะจับกุมควบคุมตัวใครเนี่ย ก็ต้องปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์อยู่ เค้ายังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้นคุณจะไปซ้อมทรมานเขา คุณจะไปรีดทรัพย์เขา คุณจะปฏิบัติต่อเขาที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็จะเห็นพัฒนาการว่ามันก็ดีขึ้น แต่ว่ามันก็อาจจะยังไม่ดีที่สุด มันยังมีการพัฒนาต่อไปได้ แล้วก็ยังมีคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงหรือเรียนรู้เรื่องของสิทธิมนุษยชนอีกมากเหมือนกันนะคะ เพราะว่าก็ต้องยอมรับว่าสังคมนี้มันยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังมีคนเข้าไม่ถึงการศึกษา ยังมีคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีพวกนี้อยู่มากเหมือนกัน




ทุจริตส่งผลต่อ “สิทธิมนุษยชน”


สุภัทรา นาคะผิว - ถ้ามันมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นมากๆ เนี่ย ปัญหาสิทธิมนุษยชนเนี่ยก็จะมากขึ้นตามตัวเลยค่ะ เพราะว่าโดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าหากมีการรับเงินใต้โต๊ะ มีการให้สินบน มีการรับเงินรับทอง มีการเรียกรับผลประโยชน์ไม่ว่าจะใดๆ ก็ตามเนี่ยนะคะ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เพิ่งเป็นข่าว มีผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์เรียกรับเงิน 100 กว่าล้านในคดีทางการเมืองใช่ไหมคะ ซึ่งอันเนี่ยมันก็สะท้อนว่า แล้วเราจะถามหาความยุติธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าคนไม่มีตังก็แปลว่าก็อาจจะมีโอกาสที่จะถูกละเมิดสิทธิได้ใช่หรือไม่ ความยุติธรรมมันซื้อได้ด้วยสตางค์เนี่ยนะคะ มันก็จะเป็นความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แล้วก็อาจจะเกิดแพะในคดีอาญาได้ง่ายขึ้นนะคะ แน่นอนค่ะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นกับปัญหาสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องเดียวกันเลย


วสันต์ ภัยหลีกลี้ ระบุว่า ทุจริตยาก็อาจจะทำให้คุณภาพยาแย่ลง ก็กระทบกับสิทธิสุขภาพของประชาชน กระทบกับสิทธิทางด้านการศึกษา การซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็กระทบกับสิทธิพลเมือง แล้วก็กระทบกับภาพรวมการเมือง แล้วก็จะมีผลทำให้อาจจะเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย อาจจะทำให้เกิดการทุจริตโครงการแบบเมกะโปรเจค โครงการนู้นโครงการนี้ แล้วมันก็กระทบกับประเทศชาติโดยรวม ทรัพยากรที่เราควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมันก็ขาดหายไป ขณะเดียวกันบางทีก็จะไปกระทบต่อสถานะทางการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะว่าเวลานักธุรกิจนักลงทุนมาลงทุน จะต้องมีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง หรือว่าต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันบ้านเราก็ลดลง ก็กระทบกับโอกาสในการพัฒนา โอกาสในการเติบโต แล้วก็สิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับด้วย ดังนั้นเนี่ยการทุจริตเนี่ยกระทบกับสิทธิมนุษยชนในหลายต่อหลายด้าน


สุภัทรา นาคะผิว ระบุเพิ่มเติมว่า  ปัญหาใหญ่ของบ้านเราอันนึงก็คือเป็นการทุจริตคอรัปชั่นในเชิงนโยบาย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากว่า คนที่เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ จริงๆ ก็ต้องเรียกร้องทั้งสามอำนาจหลักของประชาธิปไตยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ใช่คนรวยแบบนึง คนจนแบบนึง แล้วก็มีการเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆ อันนี้ก็จะเป็นปัญหามาก แล้วก็ทั้งฝ่ายบริหารทั้งฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เพราะว่าบางทีเราก็เห็นว่าการออกกฎหมายบางตัว การออกกฎระเบียบบางอย่างนะคะ กฎกระทรวงบางเรื่องเนี่ย มันก็ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม โดยที่ทำให้คนอีกจำนวนมากจะต้องได้รับผลกระทบหรือว่าเสียหาย




ต้องช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงเพื่อต่อต้านทุจริต


วสันต์ ภัยหลีกลี้  กล่าวว่า  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า เราต้องช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง มันเป็นสิทธิ์ของเรา มันเป็นผลประโยชน์ของเราด้วย แล้วก็ถ้าสมมติว่าทุกคนเนี่ยไม่อดทนต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาต่างๆ ก็น่าจะน้อยลง



สุภัทรา นาคะผิว - พยายามจะบอกประชาชนให้เป็นหูเป็นตา ช่วยกันสอดส่องดูแล ถ้าพบเห็นเรื่องที่เป็นการทุจริตคอรัปชั่นหรือละเมิดสิทธิมนุษย์ชนก็ต้องแจ้ง มีหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบทราบ แล้วเราก็ต้องมีกลไกในการปกป้องคุ้มครองคนที่แจ้ง ให้เขามีความปลอดภัยด้วยใช่ไหมคะ ว่าเขากำลังเป็นพลเมืองดีในการที่เขาช่วยประเทศชาติที่จะแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น



วสันต์ ภัยหลีกลี้ - การทำงานของเราเนี่ยมันก็มีความสัมพันธ์กันอยู่เป็นองค์กรอิสระเหมือนกับป.ป.ช. เรื่องบางเรื่องถ้าไม่ได้อยู่ในหน้าที่เราโดยตรง เป็นเรื่องที่ส่อไปในทางทุจริต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตเราก็จะส่งไปให้ทางป.ป.ช . ป.ป.ช. ก็จะเป็นคนดูรายละเอียดในเรื่องพวกนั้น


สุภัทรา นาคะผิว - ก็อยากจะเห็นว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาใหม่เนี่ย นอกจากมีนโยบายแล้วต้องจริงจังกับเรื่องนี้นะคะ โดยที่รัฐบาลเองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่จะมีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ แล้วก็เอาจริงเอาจังกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ใช่แค่ย้ายไปย้ายมา แต่ว่าต้องให้เกิดการเห็นผล อย่างหลายๆ ประเทศที่เค้าทำแล้วก็ได้ผลดี ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นก็น้อยลง มันอยู่ที่ว่าเอาจริงแค่ไหนนะคะไม่ใช่พูดแต่ปาก แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติจริง แล้วตัวเองก็ไม่เป็นตัวอย่าง





ที่มา TNNONLINE  





ข่าวที่เกี่ยวข้อง