รีเซต

10 ข่าวเด่นแห่งปี ลำดับที่ 7/10 เหตุการณ์เด่นเศรษฐกิจปีฉลูท่ามกลางมหันตภัยร้ายโควิด

10 ข่าวเด่นแห่งปี ลำดับที่ 7/10  เหตุการณ์เด่นเศรษฐกิจปีฉลูท่ามกลางมหันตภัยร้ายโควิด
TNN ช่อง16
28 ธันวาคม 2564 ( 11:51 )
226
10 ข่าวเด่นแห่งปี ลำดับที่ 7/10  เหตุการณ์เด่นเศรษฐกิจปีฉลูท่ามกลางมหันตภัยร้ายโควิด

เป็นอีกหนึ่งปี ที่ปัจจัยเรื่องโคววิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ชี้เป็นชี้ตายทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังการแพร่ระบาดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสมากระตุกให้ชีพจรเศรษฐกิจที่พยายามฟื้นตัว ต้องดิ่งวูบลงมาเป็นระยะ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่แม้จะมีการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะกลับมาชูโรงในการผลักดันเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม และแม้จะมีพระเอกอย่างการส่งออกเข้ามาช่วยค้ำยัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหนุนให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตแบบชัดเจนได้ ทำให้รัฐต้องคลอดมาตรการการคลังเข้ามาเสริมทัพ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสู่ภาวะถดถอย 

    

สำหรับปี 64 ที่ผ่านมา เหตุการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญมีอะไรบ้างนั้น TNNONLINE ได้รวมรวม 10 เรื่องเด่นที่น่าสนใจมาเสนอดังนี้

 

1.เติมสภาพคล่องช่วยเอสเอ็มอี-รายย่อย


ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประกาศมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่า เดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท

    

ส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่าและไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 65 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.64 จนถึงสิ้นปี 65


2.หนี้ครัวเรือนสูงสุดรอบ 18 ปี 


โควิดส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูด โดยในไตรมาส 1/ 64 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี มาจากหนี้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวันทำให้แบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล


3.คลังกู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม


ความพยายามในการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม  ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการจัดการงบประมาณเพื่อรับมือโควิด จากที่ปี 63 ที่กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้  เราชนะ  เรารักกัน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ  มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ให้แย่กว่าที่เป็นอยู่เดิม


4.คนไทยเตะฝุ่นกระจาย


แรงงานไทยยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด ส่งผลให้มีอัตราว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานสูงถึง 870,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.25% โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด 3.63% รองลงมาเป็น ปวส. 3.16%  ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป(บริหารธุรกิจ การตลาด) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น


5.เดิมพันเปิดประเทศฟื้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ


รัฐเดินหน้าตัดสินใจเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 8 เดือน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญคือการพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยาวนาน แต่แล้วท่องเที่ยวที่วาดฝันจะช่วยให้สร้างรายได้เข้าประเทศก็ต้องสะดุดลงอีกครั้ง หลังโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนที่แพร่ระบาดในหลายประเทศทุกมุมโลกรวมถึงไทยทำให้รัฐต้องสั่งเบรกต่างชาติเข้าไทยทั้งรูปแบบ แซนบ็อกซ์(Sandbox) และเทสต์แอนด์โก (Test and Go) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึง 4 ม.ค.65


6.ส่งออกทุบสถิติสูงสุด


ไทยจ่อปิดจ็อบส่งออกปี 64 พุ่ง 15-16% มูลค่า 2.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8 ล้านล้านบาท สูงสุดรอบ 12 ปี นับจากปี 2553 หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น คาดปีหน้าส่งออกยังไปได้ต่อขยายตัว 3-4% คิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9 ล้านล้านบาท โดยการนำเข้าของประเทศคู่ค้าในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น หรือสภาพยุโรป ขณะที่ปัจจัยค่าเงินบาทเอื้อต่อการส่งออก


7.ธปท.เบรกหัวทิ่มใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้า-บริการ


ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกโรงคัดค้านใช้คริปโทจ่ายค่าสินค้าและบริการ เหตุผันผวนสูง มีความเสี่ยงถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และเป็นเครื่องมือของการฟอกเงินที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหายหนัก หลังภาคธุรกิจอสังหาฯ สายการบิน โรงพยาบาล รถยนต์-ร้านกาแฟเกาะกระแสรับชำระคริปโทกันอย่างคึกคัก


8.เล็งรีดภาษีหุ้น-คริปโทเพิ่มรายได้เข้าคลัง


กรมสรรพากรปัดฝุ่นเก็บภาษีขายหุ้นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไปในอัตรา 0.1%

หลังจากรัฐจัดเก็บภาษีพลาดเป้า และมีแผนเดินหน้าจัดเก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" (digital asset) อย่างคริปโทเคอร์เรนซี หลังจากที่ราคาพุ่งแบบไม่หยุดทำให้หน่วยงานรัฐมีแผนดึงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ปี 61 ระบุชัดเจนว่าบุคคลที่มีรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ  ที่จ่าย  15% ของกำไร และยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเดือนมี.ค.65


9.เจอจ่ายจบพ่ายโควิด


บริษัทประกันบักโกรกหลังกรมธรรม์ "เจอจ่ายจบ" ยอดเคลมพุ่ง 3 หมื่นล้านบาท ทำให้บางบริษัทที่ประสบปัญหาการเงินจากการรับประกันภัยโควิดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไปต่อไม่ไหว ตัดสินใจปิดกิจการเช่น บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย และบริษัท เอเชียประกันภัย เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องไม่สามารถแบกรับภาระค่าสินไหมจากการแพร่ระบาดโควิดได้  ขณะที่อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บอร์ดคปภ.ผ่อนผันเสริมสภาพคล่อง โดยลดการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันช่วงโควิดตั้งแต่ 30 ก.ย.-30 มิ.ย.65  เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้าได้มากขึ้น


10.คลังเอาจริงแก้ปัญหาหวยแพง


สำนักงานสลากเคาะ 3 แนวทาง ปราบหวยแพงในรอบ 7 ปี เพิ่มจุดขาย 80 บาท ทุกอำเภอ จำนวน 1,000 จุด เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 2 พ.ค.นี้ ซึ่งจะได้รับสิทธิรับลอตเตอรี่ไปจำหน่าย จำนวน 25 เล่ม และต้องขายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเท่านั้น รวมถึงรื้อระบบผู้จองซื้อใหม่ 2 แสนคน โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1-31  ม.ค. 65 ซึ่งจะเปิดรับสมัครทั้งรายใหม่และรายเก่าปลดล็อกให้โพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์กลางให้ผู้ค้าฝากขาย



นับถอยหลังเหลือเวลาไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ก็หวังว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ มีแต่เหตุการณ์ในทางบวกให้ได้บันทึกจดจำกันบ้าง หากสถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลาย การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กับมาดังเดิม... ลาทีปีเก่า ขอให้แฟนคลับ TNNONLINE มีความสุขรับทรัพย์กันถ้วนหน้าตลอดปีใหม่


ที่มา  TNNONLINE

ภาพประกอบ  พิกซาเบย์ , TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง