"อนามัยโลก" วอนบริษัทวัคซีนระงับสิทธิบัตรชั่วคราว เพื่อช่วยชีวิตคนเป็นเรือนล้าน
เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นาย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวผ่านระบบวิดีโอลิงค์ เปิดการประชุมร่วม 3 ฝ่ายว่าด้วยการระงับใช้สิทธิบัตรวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 2 ที่ประกอบด้วย องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ), ตัวแทนบรรดาบริษัทเภสัชกรรม และ สถาบันการเงินระดับโลก ยืนยันว่า การระงับใช้สิทธิบัตรวัคซีน ไม่ใช่เป็นการ “ฉก” เอาสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาไปจากบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
“แต่ในเมื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเป็นจำนวนมาก กำไร, สิทธิบัตรทั้งหลายต้องมาเป็นอันดับสอง” นายกีบรีเยซุสกล่าวโดยไม่ได้พูดถึงรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม เพียงระบุว่า การระงับใช้สิทธิบัตรดังกล่าว จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้ได้ 11,000 ล้านโดส ซึ่งดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่าจำเป็นในการนำมาฉีดให้กับประชากรให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของทุกประเทศทั่วโลกภายในกลางปี 2022 นี้
นายกีบรีเยซุสย้ำว่า นอกจากจะต้องมีการระงับใช้สิทธิบัตรเป็นการชั่วคราวแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการขจัดอุปสรรคทางการค้าของวัสดุและสารประกอบสำหรับการผลิตวัคซีน รวมทั้งต้องมีความตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมกันไปด้วย
การประชุมซึ่งมีขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งที่ 2 เพื่อลดความเห็นต่างระหว่างสองฝ่ายในเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิตวัคซีน และลดความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนที่ทำให้เกิดสถานการณ์ ประเทศที่มั่งคั่ง กำลังเตรียมการฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศยากจนกลับไม่มีวัคซีนฉีดแม้แต่เข็มเดียว
ทางด้านนาง เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวลลา กล่าวเปิดการประชุม โดยชี้ให้เห็นว่า ในจำนวนวัคซีน 1,100 ล้านโดสที่ทั่วโลกผลิตได้ในเดือนมิถุนายน มีเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกจัดส่งไปยังทวีปแอฟริกา ที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 17 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และ มีเพียง 0.24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกจัดส่งไปให้กับประชาชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ สัดส่วนที่ว่านี้ยิ่งต่ำลงไปอีกในครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมนี้อีกด้วย