"WTO" เดียวที่ "ทรัมป์" รู้จักคือ "World Tariff's Our"

“WTO” ทุกคนคิดว่าหมายถึงอะไร ตอบไว้ในใจ เพราะ WTO ในความหมายที่ทุกคนเข้าใจ กำลังจะเปลี่ยนไป หรืออาจจะไม่ได้หมายถึง WTO ที่ทุกคนรู้จัก หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศมาตรการ “ภาษีสหรัฐฯ” ที่ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีวี่แววว่าจะทุเลาเบาบาง หรือหาทางออกร่วมกันได้ของหลากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ
จนทำให้ WTO ที่เราเคยรู้จัก เปลี่ยนไปสู่ “World Tariff’s Our” หลังจากการประกาศใช้มาตรการ “ภาษีสหรัฐฯ” แล้ว WTO ในความหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ คืออะไร แล้วได้เปลี่ยนแปลงการค้าโลกไปอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไร
”WTO” หรือ World Trade Organization หรือที่เรารู้จักกันในนาม “องค์การการค้าโลก” ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่มีพัฒนาการมาจากการทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือ General Agreement on Tariffs and Trade เมื่อปี พ.ศ. 2490
และได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 มีสมาชิกเริ่มแรก 81 ประเทศ และมีที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และแน่นอนว่า “สหรัฐอเมริกา” ก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แน่นอนครับว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ในวันนั้นก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจนี้ของสหรัฐอเมริกา หรือเค้าอาจจะมีความคิดไม่เห็นด้วยตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เป็นได้
โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ด้วยกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการค้าโลกและการขยายตัวของจำนวนสมาชิกจะมีผลให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัว เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันองค์การการค้าโลกมีสมาชิกอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 166 ประเทศ สมาชิกล่าสุดประกอบด้วย คอโมโรสและติมอร์-เลสเต
ซึ่งองค์การการค้าโลกมีบทบาทในการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความพร้อมของประเทศสมาชิก และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก กฎกติกาต่างๆ ของ องค์การการค้าโลกได้กำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา
เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในระบบการค้าพหุภาคีได้องค์การการค้าโลกจึงเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง จะมีการเจรจาเพื่อพัฒนาและสร้างกฎกติกาใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรองรับกับวิวัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศ และรูปแบบการค้า โลกที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกทำให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิ และพันธกรณี ที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆ ขององค์การการค้าโลกกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก นอกจากช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้ง ผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและส่งออกสามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้
ทุกอย่างก็เป็นไปตามทาง ตามภารกิจที่องค์การการค้าโลกได้มีการวางกรอบการทำงานไว้ร่วมกัน...จนกระทั่ง การประกาศมาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้การมีอยู่ของ “องค์การการค้าโลก” ไม่ได้มีความหมายใด ๆ อีกต่อไป
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเรามาเปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ขององค์การการค้าโลก ซึ่งก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเจตนารมย์ กับการประกาศศักดาทางด้านการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า WTO เดียวที่ทรัมป์รู้จักคือ “World Tariff’s Our”
มาดูบทบาทหน้าที่แรกกันก่อน องค์การการค้าโลก “เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิกทั้งในรูปของมาตรการ “ภาษีศุลกากร” และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร” ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายเยอะ เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนใจเวทีใดทั้งสิ้นในการเจรจาภาษี กำหนดนโยบายตัวเองตามใจชอบ
ข้อต่อมา “เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีกลไกยุติข้อพิพาทด้วย” ข้อนี้ต่อให้ องค์การการค้าโลก อยากจะเข้ามามีบทบาทแค่ไหน แต่เสียงที่ส่งออกมาคงไม่ได้มีน้ำหนักสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งองค์การการค้าโลกเองก็คงรู้ดี จากการสงวนท่าทีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่ไม่ได้มีแอคชั่นอะไรที่เป็นการแสดงถึงการเป็นเวทีในการแก้ไขข้อขัดแย้ง
ข้อนี้สำคัญครับ “องค์การการค้าโลก ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น” สถานการณ์ตอนนี้ “ต่างคนต่างพูดไม่ออก ได้แต่มองตาเท่านั้น” เพราะไม่ว่าทั้ง 3 องค์กรที่ทำงานร่วมกัน จะพยายามแสดงท่าทีในการเตือน หรือให้สหรัฐอเมริการะมัดระวังการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้แค่ไหน แต่โดนัลด์ ทรัมป์ จำเป็นต้องมองข้าม เพราะเส้นทางนี้ ไม่มีที่ให้ถอยกลับตัวแล้ว
มาดูกันที่ข้อตกลงของสมาชิกร่วมกันขององค์การการค้าโลก เช่น “สินค้าเกษตร ทุกประเทศยกเลิกมาตรการการห้ามนำเข้า โดยให้ปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรการภาษีศุลกากรแทน โดยลดภาษีลงเฉลี่ยร้อยละ 36 และ 24” โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนใจข้อตกลงนี้ หรือว่าเค้าเองก็อาจจะลืมไปแล้วว่ามีอยู่ จึงเดินหน้าภารกิจรีดภาษีจากสินค้าทุกชนิด จากทุกประเทศ อย่างไม่เลือกหน้า
ในขณะที่กฎระเบียบ ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการไต่สวนการทุ่มตลาดให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อให้ประเทศ ต่างๆ ปฏิบัติให้สอดคล้องกัน “เป็นการลดโอกาสที่อาจมีประเทศผู้นำเข้าใช้มาตรการตอบโต้เพื่อกีดกันการค้า อย่างไม่เป็นธรรม” โดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิบัติตรงข้ามกับทุกตัวหนังสือที่กล่าวมาอย่างชัดเจน จากการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้
หลังจากนี้ท่าทีขององค์การการค้าโลกจะเป็นอย่างไร ความพยายามที่จะเป็นเวทีกลางในการแก้ไขปัญหา หรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จะเป็นไปได้หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบเองก็พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองในการเข้าไปเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา เพื่อขอบรรเทามาตรการ ผ่อนหนักให้เป็นเบา ถึงแม้มีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการเลื่อนมาตรการออกไป 90 วัน แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีความแน่นอน
“World Tariff’s Our” อาจจะฟังเป็นแค่คำเสียดสี แต่เมื่อย้อนดูเจตนาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการสร้างสหรัฐอเมริกาให้กลับมามั่งคั่งอีกครั้ง โดยไม่สนใจถึงข้อตกลง กฎระเบียบ ใดๆทั้งสิ้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจโลก ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ ว่าสหรัฐอเมริกาถูกเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน นั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว ที่จะบอกได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เบียดบังทุกประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศตนเอง ด้วยการล้วงเงินภาษีจากทั้งโลก เข้ากระเป๋าตัวเอง