รีเซต

สบอ.ที่12อุทยานฯรอลุ้นช้างโขลงแม่มารับลูกช้างพลัดหลงรอบ2

สบอ.ที่12อุทยานฯรอลุ้นช้างโขลงแม่มารับลูกช้างพลัดหลงรอบ2
ข่าวสด
5 สิงหาคม 2563 ( 16:35 )
221
สบอ.ที่12อุทยานฯรอลุ้นช้างโขลงแม่มารับลูกช้างพลัดหลงรอบ2

 

รอลุ้น!!ช้างโขลงแม่วนมารับลูกช้างพลัดหลงรอบ2 สบอ.ที่12กรมอุทยานฯยังเดินหน้าภารกิจปล่อยลูกช้าง ตั้งกล้องศึกษาพฤติกรรมโขลงแม่ เผยลูกช้างร่าเริง แข็งแรง

 

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ที่ 12(นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงความคืบหน้าภารกิจการปล่อยลูกช้างพลัดหลงห้วยขาแข้งว่า หลังจากช้างโขลงแม่พยายามจะเข้ามารับลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลง ถึงคอก โดยมีการส่งช้างผู้แทน มายื่นงวงแตะชวนกลับไปอยู่ป่ากันแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

 

แต่ลูกช้างยังห่วงคอก ไม่ยอมตามโขลงไป ประกอบกับช้างโขลงแม่ ยังระแวงที่ลูกช้างมีกลิ่นคนติดอยู่ จึงกล้าๆ กลัวๆ ว่า จะรับลูกกลับดีหรือไม่ จะเห็นได้จากการที่ช้างโขลงแม่ ได้ช่วยกันดึงหางลูกช้างป่าในโขลง 2 ตัว ที่เป็นรุ่นราวคราวเดียวกับลูกช้างพลัดลง ไม่ยอมให้มาเล่นด้วย

 

คืนวันที่ 1 ส.ค. มีช้างตัวผู้ 1 ตัว เข้ามาพังคอกลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลง และเดินตรงจะเข้าไปทำร้ายลูกช้าง เจ้าหน้าที่เห็นว่าลูกช้างจะไม่ปลอดภัย จึงลงมาไล่ ปรากฏว่าช้างป่า กลับขู่ลูกช้าง และขู่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องยิงปืนขู่ไล่ จึงยอมไป

 

ช้างตัวผู้ ข้ามาพังคอกลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลง

จากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีช้างป่าเดินเข้ามาที่คอก มีแต่เดินหากินวนเวียนได้ยินเสียงหักกิ่งไม้อยู่รอบๆ คอก มีวัวแดง และกวางป่า วนมาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง

นายธนิตย์ เผยว่า ขณะที่น.ส.อังสนา มองทรัพย์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ สบอ.ที่ 12 แจ้งว่า หลายคืนที่ผ่านมาลูกช้างสามารถนอนหลับพักผ่อน ได้นานหลายชั่วโมง เป็นสัญญาณ บ่งบอกว่าลูกช้างไม่มีภาวะเครียด ซึ่งก่อนหน้านี้ลูกช้างจะเดินตลอดวัน ช่วงหลังมานอนบ่อยขึ้น

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพิ่มเติมไว้หลายมุม เพื่อศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมของช้างโคลงแม่ รวมทั้งการเปลี่ยนวิทยุติดตามตัวลูกช้าง เพื่อให้รับสัญญาณได้ไกลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของการดูแลลูกช้างขณะนี้ได้ให้พี่เขียว ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงหลักของลูกช้าง ผู้ซึ่งลูกช้างเชื่อฟังทุกอย่าง ให้ลดความใกล้ชิดลูกช้าง ให้เจ้าหน้าที่คนอื่นสลับกันมาป้อนนมแทน แต่ต้องให้พี่เขียว อยู่ประจำถาวรที่หอต้นผึ้ง ทั้งนี้ไว้ให้เป็นพี่เลี้ยงคอยให้การช่วยเหลือลูกช้าง กรณีมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดถึงเกิดขึ้นกับลูกช้าง

"ล่าสุดผมได้เดินทางไปเยี่ยมและดูพฤติกรรมของลูกช้าง และได้เป็นผู้แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้อยู่เวรเฝ้าระวังให้ลูกช้าง พบว่าลูกช้างมีการเรียนรู้ที่ดีมากริ่มใช้งวงแอบเปิดประตูคอกได้ แสดงอาการน้อยใจเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้กลับเข้าป่าไปอยู่กับแม่ หรือ พูดคุยกันว่า กลับก่อนนะ จะแสดงอาการโดยการเดินหนีแบบ แสดงออกว่ายังไม่อยากให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มาเยี่ยมกลับ โดยสรุปสุขภาพของลูกช้าง ณ ขณะนี้ แข็งแรง ร่าเริง ดีมาก"

ผอ.สบอ.ที่ 12 ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้อยู่เวรเฝ้าระวังให้ลูกช้าง

สำหรับการดำเนินงาน ผอ.สบอ.ที่ 12 กล่าวว่า ในวันนี้ (5ส.ค.) เจ้าหน้าที่จาก สบอ.12 (นว.) จนท.สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จนท.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และจนท.ขสป.ห้วยขาแข้ง ร่วมประชุมสรุปข้อมูลเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานเตรียมปล่อยลูกช้างป่าห้วยขาแข้งพลัดหลงคืนป่า ณ ขสป.ห้วยขาแข้ง โดยผลการประชุมเป็นดังนี้

เจ้าหน้าที่ร่วมประชุมภารกิจปล่อยลูกช้างคืนธรรมชาติ

1.จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพคาดว่าช้างป่าที่ใช้พื้นที่ระหว่างหอต้นผึ้ง (คอกลูกช้าง) สำนักงานเขตฯ เขารวก หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า (พื้นที่ประมาณ 20-25 ตารางกิโลเมตร) เป็นช้างกลุ่มเดียวกัน มีจำนวนประมาณ 27 ตัว

2.ช้างกลุ่มนี้มีพฤติกรรมแยกย้ายหากินเป็นกลุ่มย่อย แต่จะมีการรวมกลุ่มเป็นโขลงใหญ่ในบางครั้ง

3. มีช้างโทนตัวผู้ขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 ตัว เดินติดตามกลุ่มช้างตัวเมียและลูกช้าง โดยมีพฤติกรรมแยกกันเดิน แต่บางครั้งพบช้างตัวผู้ขนาดใหญ่ 2 ตัว เดินทางร่วมกัน

4.ข้อมูลจากจนท.ที่เฝ้าอยู่ที่หอต้นผึ้งพบว่าช้างโทนบางตัวไม่ได้มีพฤติกรรมคุกคามต่อลูกช้างในทุกครั้งที่มาบริเวณคอกลูกช้าง แต่ก็พบว่ามีช้างโทนบางตัวมีพฤติกรรมก้าวร้าว จึงทำการผลักดันโดยใช้แสงไฟ และเสียง

5.จากการเก็บข้อมูลของ จนท.บริเวณหอต้นผึ้งพบว่าโขลงช้างจะเคลื่อนย้ายกลับมาบริเวณหอต้นผึ้งทุกระยะประมาณ 18-35 วัน

6.ข้อมูลจากจนท.ลาดตระเวน ขสป.ห้วยขาแข้ง (ชุดติดตามโขลงช้าง) พบว่าช้างป่าใช้พื้นที่ในบริเวณที่มีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำและจะเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ

7.การเฝ้าระวังความปลอดภัยลูกช้าง ยังคงเฝ้าระวังบริเวณหอต้นผึ้ง และจะเพิ่มความเข้มข้นและจำนวนคนในการเฝ้าระวังหากพบว่ามีช้างโทนเข้ามาบริเวณคอกลูกช้าง รวมทั้งการสร้างโอกาสเพื่อให้ลูกช้างสามารถเข้าร่วมโขลงได้ ซึ่งหากพบว่าโขลงช้างมีทิศทางเข้ามาใกล้คอกลูกช้าง จะแจ้งให้จนท.ที่เฝ้าระวังอยู่ผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวัง และรบกวนโขลงช้างให้น้อยที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ช้างทำความคุ้นเคยกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง