รีเซต

"สืบทอดเจตนา" บทเพลงทรงคุณค่า เชิดชู "สืบ นาคะเสถียร" 1 ก.ย.65

"สืบทอดเจตนา" บทเพลงทรงคุณค่า เชิดชู "สืบ นาคะเสถียร" 1 ก.ย.65
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2565 ( 12:01 )
80
"สืบทอดเจตนา" บทเพลงทรงคุณค่า เชิดชู "สืบ นาคะเสถียร" 1 ก.ย.65

สืบเอ๋ย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า   

 

เนื้อร้องท่อนสุดท้าย ของ บทเพลง สืบทอดเจตนา ที่ถูกขับขานโดยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ "ยืนยง โอภากุล" หรือ แอ๊ด คาราบาว สะท้อนถึงคุณค่าของตำนานคนกับป่า แห่งห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี  ทำให้นึกย้อนรำลึกถึง "สืบ นาคะเสถียร"  นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย ที่ยอมเสียสละชีวิต เพื่อพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง นับเป็นการฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  



วันนี้ 1 กันยายน 2565   ครบรอบ 32 ปี  ของการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร   โดยกำหนดให้วันที่  1 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสืบ นาคะเสถียร” เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติ  





เช้าวันที่หนึ่งกันยา ในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง หยาดนี้เพื่อนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย



วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 เขาได้ตัดสินใจยิงตัวตาย พร้อมกับทิ้งจดหมายที่เอาไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเองโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” เพื่อเรียกร้องให้สังคม ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และนี่จึงถือเป็นที่มาของ “วันสืบ นาคะเสถียร” ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัย และระลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเขา



สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย  ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ถึงตัวจะตายไม่เสียดายชีวิต



2 สัปดาห์ต่อมา หลังจาก สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจปลิดชีพตนเอง  ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว





นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดั่งเจ้า 



ธันวาคม 2542 อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นของคนไทยเพื่อสะท้อนภาพรวมสังคมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่ปี 2000 หนึ่งในแบบสำรวจประชามติมีการตั้งคำถามว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด 10 อันดับ


ผลปรากฏว่า อันดับ 1 คือ หลวงปู่แหวน


อันดับ 2 คือ สืบ นาคะเสถียร





ลำดับชีวิต สืบ นาคะเสถียร


สืบมีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต ได้แก่ กอบกิจ นาคะเสถียร เป็นน้องชายคนกลาง และกัลยา รักษาสิริกุล เป็นน้องสาวคนสุดท้อง สืบ สมรสกับนิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร




การทำงานในป่าห้วยขาแข้ง


ในปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร


ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ครั้นปี พ.ศ. 2533 สืบจึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน


ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน








เนื้อเพลง สืบทอดเจตนา  


ดวงตาของเจ้าลุกโชน เสียงตะโกนของเจ้าก้องไพร

บัดนี้เจ้านอนทอดกาย จากป่าไปด้วยดวงใจกังวล

วาจาของเจ้าจริงจัง มีพลังเหมือนดังมีมนต์

นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดั่งเจ้า


สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนของกรมป่าไม้

หัวหน้ารักษาพงไพร จังหวัดอุทัย ณ ห้วยขาแข้ง


สองมือเจ้าเคยฟันฝ่า อีกสองขาเจ้าย่างย่ำไป

ลัดเลาะสุมทุมพุ่มไม้ ตระเวนไพรให้ความคุ้มครอง

ดูแลสารทุกข์สารสัตว์ ในป่ารกชัฎหลังห้วยลำคลอง

ขาแข้งเหมือนดังขาน่อง สองขาเจ้าย่ำนำความร่มเย็น


สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย

ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ถึงตัวจะตายไม่เสียดายชีวิต


สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนของกรมป่าไม้

หัวหน้ารักษาพงไพร จังหวัดอุทัย ณ ห้วยขาแข้ง


เช้าวันที่หนึ่งกันยา ในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง

หยาดนี้เพื่อนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย

วิญญาณเจ้าจงรับรู้ คนที่ยังอยู่ ยังยืนหยัดต่อไป

เพื่อนเอ๋ยหลับให้สบาย เจ้าจากโลกไปมิให้สูญเปล่า


สืบเอ๋ย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า

สืบเอ๋ย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า

สืบเอ๋ย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า

สืบเอ๋ย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า


คำร้อง ทำนอง ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)

บันทึกเสียงบรรจุอยู่ในอัลบั้ม โนพลอมแพลม ของยืนยง โอภากุล (พ.ศ.2533)




ภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง