ห้วยขาแข้งพบ "ซากขนสีขาวนกยูงอินเดีย" เพิ่มกล้องดักถ่ายเร่งตามหา "นกยูงพันธุ์ผสม"
หลังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ออกประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก หรือ หอนกยูง เพื่อติดตาม "นกยูงอินเดียสีขาว"และนกยูงที่คาดว่าเป็นสายพันธุ์ผสม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับนกยูงสายพันธุ์ไทยในพื้นที่
ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ความคืบหน้าการติดตามนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงสายพันธุ์ผสม ว่า นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่า 4 คน และเจ้าหน้าที่จุดสกัดที่ 006 โป่งช้างเผือก 2 คน , เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าวังไผ่ , เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดง , เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมจำนวน 20 คน
ดำเนินการค้นหานกยูงดังกล่าว ทั้งการโรยอาหารบริเวณเส้นทางหากิน และวางกรงดัก เพื่อดักจับนกยูง รวมถึงการซุ่มสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์บริเวณโป่งช้างเผือก ปรากฎว่า ไม่พบนกยูงตัวสีเขียวที่คาดว่าเป็นพันธุ์ผสม มาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567 และ ไม่พบนกยูงอินเดียสีขาว ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567
แต่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้เดินสำรวจบริเวณใกล้เคียง เพื่อค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่า พบเศษขนของนกยูงอินเดียสีขาว พร้อมทั้งมีรอยเลือด แต่ไม่พบซากนกยูง จึงคาดว่าอาจถูกทำร้าย หรือกินโดยสัตว์ผู้ล่าไม่ทราบชนิด เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่จ้าหน้าที่พบเห็นนกยูงอินเดียตัวสีขาว พบว่านกยูงมีลักษณะไม่ค่อยระวังตัวเท่านกยูงไทย จึงอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย
ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้
1. เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บกรงดักออกจุดดักจับนกยูง เนื่องจากพบว่ามีโขลงช้างป่าเข้ามาหากินใกล้เคียงพื้นที่ตั้งกรง
2. จะเร่งดำเนินการติดตามหานกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสม โดยการเพิ่มจุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพให้มากขึ้น รวมถึงการเดินเท้าเพื่อตรวจสอบและค้นหาต่อไป
ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือกมาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน โดยจะปิดไปจนกว่าจะดำเนินการติดตามนกยูงสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์ผสมเรียบร้อย เพื่อป้องกันผลกระทบการผสมข้ามสายพันธุ์ เกิดเป็นการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับนกยูงในพื้นที่
ข้อมูลและภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช