รีเซต

ดูแล 24 ชม. ลูกพะยูนพลัดหลงเกาะปอดะ พบอาการ "ลอยตัวผิดปกติ"

ดูแล 24 ชม. ลูกพะยูนพลัดหลงเกาะปอดะ พบอาการ "ลอยตัวผิดปกติ"
TNN ช่อง16
13 สิงหาคม 2567 ( 23:28 )
25

กรณีลูกพะยูนน้อยวัย 1-2 เดือน ขนาดความยาว 102 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 13 กิโลกรัม ถูกพบว่ายน้ำเพียงลำพังที่บริเวณเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2567 โดยขนย้ายลูกพะยูนมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง


ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อนุบาลและรักษาเบื้องต้นพร้อมวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม พบว่าลูกพะยูนมีการสะสมของแก๊สภายในลำไส้ส่วนท้ายปริมาณมาก และผนังลำไส้หนาตัว ส่งผลให้มีอาการลอยตัวผิดปกติ จึงได้รักษาโดยการป้อนยา สารน้ำ และฉีดยาลดปวด โดย เจ้าหน้าที่ได้สับเปลี่ยนกันดูแลลูกพะยูน เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ลูกพะยูนเกิดการสำลักน้ำรวมถึงพาว่ายน้ำเพื่อกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหารและพร้อมช่วยเหลือสัตวแพทย์ในการทำหัตถการ รวมทั้งติดตามอาการของลูกพะยูนอย่างใกล้ชิด


พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับทราบถึงรายงานการอนุบาล ดูแลรักษาลูกพะยูน ที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องอยู่ในน้ำกับลูกพะยูนอย่างใกล้ชิดตลอด 36 ชั่วโมงที่รับลูกพะยูนมาดูแล ถือเป็นการปฏิบัติงานที่ต้องเสียสละเป็นอย่างมาก จึงขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติการนี้สำเร็จลุล่วง พร้อมกำชับให้นำประสบการณ์จากกรณีพะยูนมาเรียมและยามีล มาปรับใช้ในการดูแลลูกพะยูนน้อยตัวนี้ด้วย



ขณะที่นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า จากการอนุบาลและปฐมพยาบาลลูกพะยูน เบื้องต้นทางสัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษารวมถึงการวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยาและค่าชีวเคมีในเลือด การเพาะเชื้อตรวจหาความไวของยาต่อเชื้อแบคทีเรียเพื่อประกอบการพิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาอิเล็กโทรไลต์เพื่อลดสภาวะการขาดน้ำ การให้ยาระบายแก๊สและยาลดปวดเพื่อรักษาประคองอาการให้พะยูนรู้สึกสบายตัว รวมถึงจัดหานมผงสูตรสำหรับลูกพะยูนโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทางโภชนาการของตัวสัตว์มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นตรวจค่าน้ำตาลในเลือดได้ 62 mg/dl ยังต้องเฝ้าระวังภาวะช็อก และให้สารน้ำทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังวางแผนการจัดการการจัดหาอาสาสมัครในการดูแลและช่วยเหลือสัตวแพทย์ในการทำหัตถการ รวมถึงติดตามอาการของลูกพะยูนตลอด 24 ชั่วโมงต่อไป


ก่อนหน้านี้ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แม้ลูกพะยูนจะมีอาการดีขึ้น แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะกรณีนี้คล้ายกับ "มาเรียม" และ "ยามีล" ลูกพะยูนที่พลัดหลงแม่และตายไป จึงต้องใช้บทเรียนและข้อผิดพลาดในอดีต มาช่วยลูกพะยูนตัวนี้ เพื่อให้รอดกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ


เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล  ระบุว่า ตอนนี้ต้องช่วยรักษาลูกพะยูนให้กลับมาแข็งแรง ประคับประคองให้โตกว่านี้ ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ คือการสัญจรทางน้ำ ซึ่งกรมทะเลฯ และ กรมอุทยานฯ เร่งติดตั้งป้ายบอกแหล่งหญ้าทะเล เขตลดความเร็วเรือ เพื่อให้ปลอดภัยต่อพะยูน ทั้งที่อยู่เดิมและที่อพยพเข้ามาเนื่องจากวิกฤตหญ้าทะเล จึงขอร้องว่า หากเห็นป้าย เห็นทุ่น ขอให้ช่วยกันลดความเร็วเรือลง


ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , FB : Kongkiat Kittiwatanawong , FB : Thon Thamrongnawasawat

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง