ปลดล็อก "ตัวเงินตัวทอง - นกแอ่นกินรัง" เพาะเลี้ยงเพื่อเศรษฐกิจ
วันนี้ (5 พ.ย. 67) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมปลดล็อก ออกประกาศให้ "ตัวเงินตัวทองและนกแอ่นกินรัง" สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลัง คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเห็นชอบ
ที่ประชุมได้พิจารณาให้เพิ่ม "ตัวเงินตัวทอง" (Varanus salvator) เข้าไปอยู่ในรายการสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้อีก 1 รายการ จากเดิม 62 รายการ รวมเป็น 63 รายการ
สำหรับตัวเงินตัวทอง จากเดิมที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ 62 ชนิด จะเพิ่มเป็น 63 ชนิด โดยการเพิ่มตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator) เข้าไปในรายการ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์สวยงาม ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หนังมีลายละเอียด นุ่ม เหนียว ทนทาน มีการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อประกาศแล้วผู้ที่มีความสนใจในการประกอบกิจการเพาะพันธุ์สามารถขออนุญาตในการเพาะพันธุ์ ทำผลิตภัณฑ์จากหนัง และสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ในอนาคต
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่งแล้ว
ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงฯ อนุญาตให้เก็บรังนกแอ่น 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม (นกแอ่นรังดำ) พร้อมร่างระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการขออนุญาต และออกใบอนุญาตเก็บรังนกแอ่น เพื่อส่งเสริมรายได้ประชาชนและเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งนี้ ร่างประกาศทั้งสองฉบับได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ และคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เห็นชอบทั้งสองส่วนของร่างประกาศฯ เนื่องจากเห็นว่าการใช้หลักฐานและใบอนุญาตจะช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตง่ายขึ้น และฝ่ายกฎหมายได้คลายข้อกังวลในเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การออกประกาศทั้งสองฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ จะดำเนินการศึกษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม