รีเซต

จรวดจีนทำสถิติโลกอีกครั้ง ! แล้วทำไมต้องไปปล่อยกันกลางทะเล ?

จรวดจีนทำสถิติโลกอีกครั้ง ! แล้วทำไมต้องไปปล่อยกันกลางทะเล ?
TNN ช่อง16
23 มกราคม 2567 ( 15:01 )
27
จรวดจีนทำสถิติโลกอีกครั้ง ! แล้วทำไมต้องไปปล่อยกันกลางทะเล ?

บริษัท โอเรียนสเปซ (Oreinspace) สตาร์ตอัปด้านอวกาศจากแดนมังกร สามารถสร้างจรวดเชื้อเพลิงแข็งและสร้างสถิติโลกหลังจากปล่อยขึ้นสู่ระดับวงโคจรจต่ำ (Low Earth Orbit) ได้สำเร็จ โดยการปล่อยครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัทเกิดขึ้นกลางทะเลจีนใต้ที่หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงต้องปล่อยจรวดจากบนเรือกลางทะเลด้วย


จรวดขนส่งเชื้อเพลิงแข็งที่ทรงพลังที่สุดในโลก

จรวดขนส่งลำดังกล่าวของ Orienspace มีชื่อว่า Gravity-1 ตัวจรวดขนส่งเมื่อรวมส่วนสัมภาระ (Payload) จะมีความสูง 29.4 เมตร มีน้ำหนักรวม 405 ตัน ใช้เชื้อเพลิงแบบเชื้อเพลิงแข็ง (Solid fuel) ทั้งหมด สร้างแรงขับดัน 600 ตัน รองรับ Payload ไปที่ระดับวงโคจรต่ำหรือ LEO ที่ 6,500 กิโลกรัม นับเป็นจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ทรงพลังที่สุดในโลกในปัจจุบัน


การปล่อย Gravity-1 ครั้งแรกของบริษัทเกิดขึ้นเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา โดยการปล่อยมีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote sensing satellite) ขึ้นไปด้วยกันทั้งหมด 3 ดวง จากขีดความสามารถที่รองรับดาวเทียมได้สูงสุด 30 ดวง และขึ้นสู่ระดับ LEO ได้สำเร็จ


ทำไมจีนต้องปล่อยจรวดกลางทะเล

ในระหว่างที่จรวดกำลังไต่ระดับขึ้นไปยังระดับ LEO ตัวถังเชื้อเพลิง และส่วนเร่งจรวด (Booster) จะตกกลับลงมาที่ทะเลใกล้บริเวณจุดปล่อย ซึ่งทางบริษัทจะทำการเก็บกู้เพื่อเอาไปใช้ซ้ำในการปล่อยจรวดครั้งถัดไป เป็นที่มาของเหตุผลแรกในการปล่อยจรวดขนส่งกลางทะเล เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บกู้กลับมาใช้งานอย่างปลอดภัยทั้งต่อตัวจรวดและบ้านเรือนประชาชนละแวกใกล้เคียง


ทั้งนี้ ทาง Orienspace ตั้งเป้าเป็นบริษัทขนส่งอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ รองรับการสั่งยิงจรวดขนส่งจากลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงสามารถสั่งยิงขึ้นไปตามเส้นทางวงโคจรที่ลูกค้าต้องการได้ โดยเป็นการปรับตำแหน่งการปล่อยเป็นจุดอื่น ๆ กลางทะเล ซึ่งเป็นเหตุผลอีกประการที่ทางบริษัทต้องการความคล่องตัวจากการปล่อยจรวดขนส่งกลางทะเล ซึ่งประหยัดต้นทุนกว่าการสร้างฐานยิงบนแผ่นดิน


Orienspace เป็นสตาร์ตอัปด้านอวกาศรายที่ 5 ของประเทศจีน และบริษัทยังมีแผนการสร้างจรวดขนส่งรุ่นถัดไปอย่าง Gravitiy-2 และ Gravity-3 ที่รองรับ Payload สูงถึง 25.6 กับ 30.6 ตัน ตามลำดับ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจขนส่งอวกาศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นหลักเป็นสเปซเอกซ์ (SpaceX) ที่มีอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นเจ้าของและบริหารบริษัทได้ในอนาคต


ที่มาข้อมูล Space.com, ReutersOrienspace

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง