รีเซต

สหรัฐฯ ยอมจีนเรื่องไต้หวันแล้วจริงหรือ หลังโจ ไบเดน ส่งสัญญาณยึดมั่นหลักจีนเดียว

สหรัฐฯ ยอมจีนเรื่องไต้หวันแล้วจริงหรือ หลังโจ ไบเดน ส่งสัญญาณยึดมั่นหลักจีนเดียว
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2564 ( 11:46 )
35
สหรัฐฯ ยอมจีนเรื่องไต้หวันแล้วจริงหรือ หลังโจ ไบเดน ส่งสัญญาณยึดมั่นหลักจีนเดียว

สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันที่กำลังตึงเครียด หลังจากจีนส่งเครื่องบินรบเข้าสู่น่านฟ้าของไต้หวัน 4 วันติดต่อกันแล้ว รวมทั้งหมด 148 ลำ


ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ระบุ ว่า เพิ่งหารือกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน เกี่ยวกับไต้หวัน และผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันว่า จะยึดมั่นในข้อตกลงไต้หวัน


ไบเดนระบุว่า เขาและผู้นำจีนเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจนในจุดนี้ และไม่คิดว่า ผู้นำจีนจะทำอย่างอื่น นอกไปจากการยึดมั่นในข้อตกลงไต้หวัน


◾◾◾

🔴 ข้อตกลงไต้หวัน คือ นโยบายจีนเดียว


สำนักข่าว Reuters ขยายความคำว่า “ข้อตกลงไต้หวัน” ของไบเดนว่า เขาหมายถึงนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งเป็นจุดยืนของสหรัฐฯ มานานแล้ว รวมไปถึง “กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน” ของสหรัฐฯ


นโยบายจีนเดียวหมายความว่า สหรัฐฯ รับรองจีนอย่างเป็นทางการเท่านั้น และไม่รับรองไต้หวันเป็นประเทศ


ส่วนกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันของสหรัฐฯ นั้น ระบุว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะเป็นไต้หวันนั้น ตั้งอยู่บนหลักการว่า อนาคตของไต้หวันจะถูกตัดสินด้วยการใช้วิถีทางแห่งสันติ


ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประธานาธิบดีไบเดนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน หลังจากไต้หวันระบุว่า จีนส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศจีน เข้าสู่น่านฟ้าของไต้หวัน 4 วันติดต่อกันแล้ว รวมทั้งหมด 148 ลำ โดยจีนเริ่มทำเช่นนี้มาตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (1 ตุลาคม) ซึ่งตรงกับวันชาติของจีน


◾◾◾

🔴 เห็นพ้องแข่งกันได้ ไม่ควรกลายเป็นขัดแย้ง


ก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ (3 ตุลาคม) ขอให้จีนยุติการกระทำดังกล่าว ซึ่งสหรัฐฯมองว่า เป็นการกระทำที่ยั่วยุทางการทหาร ที่เกิดขึ้นใกล้กับไต้หวัน เป็นการกระทำที่บั่นทอนเสถียรภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการเข้าใจผิด และบั่นทอนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค


หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนตอบโต้ว่า สหรัฐฯขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน รวมทั้งยังส่งเรือหลายลำมาที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ยั่วยุที่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เช่นกัน


และระบุว่า จีนจะดำเนินการตอบโต้ทุกขั้นตอนที่จำเป็นและทำลายแผนการทำให้ไต้หวันเป็นเอกราช นอกจากนี้ สหรัฐฯ ควรยุติการสนับสนุนและการช่วยเสริมกองกำลังแบ่งแยกดินแดนของไต้หวันได้แล้ว


สำนักข่าว Reuters ระบุด้วยว่า การเปิดเผยของไบเดนล่าสุด ดูเหมือนว่าเขาจะอ้างอิงไปถึงการหารือนาน 90 นาทีกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเป็นการหารือครั้งแรกระหว่าง 2 ผู้นำในรอบ 7 เดือน ซึ่งผู้นำ 2 ชาติมหาอำนาจเห็นพ้องกันว่า การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง


◾◾◾

🔴 ไต้หวันไม่ปลอดภัย ทั้งภูมิภาคก็เสี่ยง


South China Morning Post รายงานว่า ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวในบทความที่เผยแพร่ทางวารสาร Foreign Affairs ของสหรัฐฯ โดยเตือนว่า ความล้มเหลวในการปกป้องไต้หวันถือเป็นหายนะ สำหรับทั้งไต้หวันเอง รวมถึงสันติภาพและเศรษฐกิจที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปี ในภูมิภาค


นางไช่ ยังระบุว่า ไต้หวันตั้งอยู่ตามหมู่เกาะ ซึ่งทอดยาวจากภาคเหนือของญี่ปุ่นไปยังเกาะบอร์เนียว หากแนวเส้นนี้ถูกทำลายด้วยกำลัง ผลที่ตามมาจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และทำให้แปซิฟิกตะวันตกทั้งหมดไม่มีเสถียรภาพ


ประธานาธิบดีหญิงยังระบุด้วยว่า ไต้หวันจะไม่ก้มหัวให้กับแรงกดดันใด ๆ แต่ก็ไม่ทำตัวเป็นนักผจญภัย แม้จะได้แรงสนับสนุนจากนานาชาติก็ตาม และไต้หวันหวังจะอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติ แต่ถ้าประชาธิปไตยและวิถีชีวิตถูกคุกคาม ก็จะทำทุกทางเพื่อป้องกันตนเอง


ด้านนายซู เซิง ชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ระบุว่า โลกยังเห็นการละเมิดสันติภาพและแรงกดดันในภูมิภาคจากจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ไต้หวันจำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง และรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ประเทศที่ต้องการผนวกไต้หวัน จะไม่กล้าใช้กำลังอย่างง่ายดาย และเมื่อเราช่วยตัวเองเท่านั้น คนอื่นจึงจะช่วยเราได้


◾◾◾

🔴 ปฏิกิริยาจากชาติต่าง ๆ


การส่งเครื่องบินรบของจีนเข้าไปในน่านฟ้าไต้หวัน เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ทำการซ้อมรบร่วมทางทะเลในทะเลฟิลิปปินส์ ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีการสื่อสารใด ๆ กันเลยนับตั้งแต่ไช่ อิงเหวิน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน


นายโทชิมิตซึ โมเตกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น หวังว่าไต้หวันและจีนจะแก้ไขความเห็นต่าง ผ่านการเจรจาได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานการณ์รอบ ๆ ไต้หวันจะต้องสงบสุขและมีเสถียรภาพ และนอกจากจะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ญี่ปุ่นจะชั่งน้ำหนักถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือเช่นกัน


ด้านกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย แถลงการณ์ระบุว่า กังวลเกี่ยวกับการเข้าไปในน่านฟ้าของไต้หวันของจีน ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และการแก้ปัญหาความแตกต่างเหนือไต้หวันและปัญหาระดับภูมิภาคอื่นๆ จะต้องบรรลุผลผ่านการเจรจาอย่างสันติ และปราศจากการคุกคาม การใช้กำลัง หรือการบีบบังคับใด ๆ


◾◾◾

🔴 นักวิเคราะห์เชื่อจีนไม่เปิดสงครามกับไต้หวัน


นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนยังไม่เปิดสงครามกับไต้หวัน แต่จะทำให้กองทัพอากาศไต้หวันเหนื่อยล้าจากการต้องระวังการโจมตีฐานทัพของตน ในการเข้ามาแต่ละครั้งของจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจให้เกิดได้


ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า กองทัพจีนต้องการแสดงพลังให้ผู้ชมในประเทศได้เห็นในช่วงการฉลองวันชาติจีน และก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า


นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงแสนยานุภาพก่อนที่จะมีการซ้อมรบร่วม ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ในสัปดาห์นี้ด้วย


แม้จีนจะยกระดับการกดดันทางการทหารต่อไต้หวัน แต่จีนไม่ได้มีแผนจะโจมตีไต้หวันแต่อย่างใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง