ศบค.ไฟเขียวจัดหา LAAB ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป กลุ่มเป้าหมายคือใคร ฉีดอย่างไร?
วันนี้( 8 เม.ย.65) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,140 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,750 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 241 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 49 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 100 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 23,751 ราย
- เสียชีวิต 89 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 3,833,048 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 24,854 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 25,877 ราย
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เผยอีกว่า ที่ประชุมศบค.ใหญ่ เห็นชอบแผนจัดหา Long-acting antibody (LAAB) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำโดยในเอกสารระบุว่า
หลักการ ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Passive immunity) ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน
รายละเอียดในเอกสารกำกับยา คือ
- เป็น Antibody ชนิด Long-Acting Antibody มีส่วนประกอบ 2 ชนิด (150 mg tixagemab co-packaged with 150 mg cilgavimab)
- ผ่านการรับรองใช้แบบฉุกเฉิน EUA โดย อย.สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564
- ขึ้นทะเบียนยาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศอังกฤษ เมื่อ มิ.ย. 2564
ข้อบ่งใช้ กลุ่มเป้าหมายผู้มีความเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค สำหรับเชื้อไวรัสโควิด
ขนาดการใช้ ฉีดเข้ากล้ามทุก 6 เดือน ภูมิต้านทานสามารถป้องกันโควิดได้ 6-12 เดือนต่อการให้ 1 ครั้ง
ประสิทธิผล ร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 BA.2 และ BA.1.1
กระบวนการจัดหา หารืออัยการสูงสุดแนะนำให้ปรับสัญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าฯบางส่วน โดยอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ ไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม
ภาพจาก TNN Online