รีเซต

ดัน “ดาหลา” เป็นพืชเศรษฐกิจ ในสวนยาง รับมือสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลง

ดัน “ดาหลา” เป็นพืชเศรษฐกิจ  ในสวนยาง รับมือสภาพอากาศ  เปลี่ยนแปลง
TNN ช่อง16
14 สิงหาคม 2566 ( 18:05 )
135

สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรสวนยาง แม้ว่าจะมีความหลากหลายของพันธุ์พืชในสวนยาง แต่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดโรคพืชต่างๆ อย่างเช่น โรคใบร่วงและส่งผลให้ปริมาณน้ำยางน้อย เป็นต้น 


“ถ้าสวนยางมีความหลากหลายทางชีวภาพก็จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อื่นๆ จากพืชในสวนยาง อย่างเช่น ดอกดาหลาซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ชาวบ้านอนุรักษ์เอาไว้ทำให้สวนยางมีความหลากหลายทางชีวภาพและต้นดาหลาเองก็มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์แล้ว ดาหลายังสามารถนำมาประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มหลายเมนู รวมไปถึงนำไปเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูออกดอกก็จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แตกต่างจากดอกดาหลาที่นำมาทำข้าวยำ  มีทั้งสีชมพู สีแดง สีขาว ซึ่งลักษณะดอกก็มีความแตกต่างกันไป”


สุภา  กล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพผ่านดอกดาหลา เราต้องการสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์พืชที่สามารถนำมาปลูกผสมผสานกับสวนยางเชิงเดี่ยวได้ รวมทั้งอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ดาหลามีประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าผู้บริโภคเข้าใจก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถที่จะสร้างความหลากหลายในสวนยางของเขาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็สามารถฟื้นฟูกลับมาก็จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรชีวภาพในบ้านเราให้มีความหลากหลายมากขึ้น



ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกพืชสวนยางเชิงเดี่ยว ปัจจุบันมีความตื่นตัวในการปลูกพืชชนิดอื่นผสมในสวนยางมากขึ้น เนื่องจากราคายางที่ไม่ค่อยดี ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หันกลับมาคิดถึงพืชอื่นที่จะช่วยทั้งทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความหลากหลายมากขึ้น 


สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรสวนยางในภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา สุภา บอกว่า เกษตรกรสวนยางได้ประสบปัญหากับโรคใบร่วงระบาดโดยเฉพาะในช่วงที่มีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งมีฝนตกหนักและมีความชื้นมาก โรคใบร่วงระบาดหนักมากจนทำให้ต้นยางในบางพื้นที่ต้องตายและยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ในสวนผสมปรากฏว่า การระบาดที่เป็นวงกว้างไม่ค่อยพบอาจเป็นเพราะมีพืชชนิดอื่นปลูกผสมอยู่ด้วย นอกจากนี้ความชุ่มชื้นของสวนยางที่มาจากความหลากหลายของพันธุ์พืชก็ช่วยให้ต้นยางมีน้ำยางออกบ้างและบางช่วงก็มีน้ำยางออกเยอะเพราะอุณหภูมิไม่สูงมาก


“การจะให้น้ำยางของต้นยาง ถ้าเราดูแลดีๆ และทำให้มันมีความชื้นก็จะทำให้น้ำยางออก อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยการปรับปรุงดินในสวนยางให้สามารถอุ้มความชื้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำงานมาและพบว่า ถ้าจะรับมือหรือเกษตรกรจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำให้สวนมีความผสมผสานมากขึ้นก็จะช่วยในเรื่องระบบนิเวศในสวนยางได้ดี เป็นการรับมือแบบหนึ่ง ขณะที่ระบบสวนผสมนอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศแล้วยังสามารถช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้อีกด้วย” สุภากล่าว



ฉลวย ทองเทพ ตัวแทนกลุ่มเกษตรพื้นบ้านตำบลวังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา เล่าถึงดาหลาช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ ช่วงราคายางสูงแตะ 200 บาท ชาวสวนยางกินแล้วซื้อ แทบไม่ต้องทำอะไรเลย หลังจากนั้นเมื่อราคายางตกต่ำ รายได้ไม่พอรายจ่าย ทำให้ชาวสวนกลุ่มหนึ่งเริ่มหันมาปลูกพืชร่วมยาง อย่างพืชล้มลุก แรกๆ ก็ปลูกเพื่อกินเพื่อดำรงชีวิต จากนั้นเมื่อต้นยางพาราโตก็ปลูกไม้ยืนต้นที่อยู่คู่กับป่ายางได้  เช่น สตอ ผักเหมียง ดาหลา ข่า เป็นต้น


“2 ปีนี้แทบไม่ได้กรีดยางเลย ปีที่แล้วฝนตก น้ำท่วมเดือนเมษายน กรีดยางแต่ก่อนกำหนด 25 วัน ตอนนี้ 15 วันก็หรูแล้ว ใน 1 เดือน อากาศเปลี่ยนแปลงแบบเดาใจไม่ถูก ชาวสวนยางได้รายได้จากพืชเสริม จากการปลูกดาหลา ผลพลอยของการปลูกพืชร่วมยางทำให้หน้าดินในสวนยางชุ่มชื้น ต้นยางไม่แห้ง มีน้ำยางเพิ่มขึ้น ซึ่งการปลูกไม้ร่วมไม่ว่าต้นไม้ชนิดไหน ความชื้นในดินจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” 


ตัวแทนกลุ่มเกษตรพื้นบ้านตำบลวังใหญ่ ชี้ว่า พืชร่วมยาง อย่างดาหลา ปัจจุบันคำสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ ใช้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 10-15 ดอก  คิดดอกละ 10 บาท ถือเป็นพืชเสริมรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง 


เสาวนีย์ สิทธิชน : กองทุนยาไส้ยาใจ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ กล่าวถึง การผลักดันดาหลาเป็นพื้นสร้างรายได้และความมั่นคงทางอาหารว่าต้องทำแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องพันธุกรรมจนถึงการตลาด ทำอย่างไรสร้างความรับรู้คุณค่าของดอกดาหลา ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางให้ได้ ซึ่งดาหลาไม่ใช่แค่ดอกไม้ที่ให้ความสวย แต่ยังมีคุณค่า และมูลค่าจากการลงมือและการจัดการ



“ เราค้นพบว่า ดอกดาหลาแต่ละฟอร์ม แต่ละแบบแต่ละสายพันธุ์ไม่เหมือนกันเลย บางสายพันธุ์เหมาะกับทำอาหาร  บางพันธุ์เหมาะกับการเป็นไม้ตัดดอก จัดแจกัน บางพันธุ์เหมาะกับเป็นยา และเวชสำอาง ซึ่งความรู้เหล่านี้ชุมชนไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ละภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ ภาควิชาการ สามารถมาช่วยเรื่องงานวิจัยได้ ”


สำหรับความเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากดอกดาหลาในพื้นที่ภาคใต้ เสาวนีย์ มองว่า จากแต่ก่อนใช้ดอกดาหลาเฉพาะเมนูข้าวยำ หลังจากมีการจัดงานดอกดาหลาบาน ที่จ.พัทลุง มีคนรุ่นใหม่นำไปต่อยอด สร้างสรรค์เมนูอาหารจากดอกดาหลา เช่น วุ้นดอกดาหลา ไอศรีมดอกดาหลา ส้มตำ ยำสามกรอบ แกงส้ม 


 “การพัฒนาต่อคิดต่อต้องฝากคนรุ่นใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วคนในเมืองคงไม่ได้กินแบบคนคนพื้นที่ทั้งหมด เราหวังว่า อย่างน้อยเชฟรุ่นใหม่ๆ หรือคนที่ทำเรื่องอาหารจะต่อยอด ช่วยประดิษฐ์คิดเมนูอาหารที่ทำจากต้น หรือดอกดาหลาให้มีคุณค่า กินได้ทุกๆ วัย”  เสาวนีย์ ตั้งเป็นโจทย์ที่ฝากไว้ให้กับคนเมือง พร้อมกับเห็นว่า ดาหลาเป็นมากกว่าดาหลา นอกจากเป็นไม้สวยแล้ว ยังมีคุณค่าอยู่ร่วมกับไม้อื่นได้ ไม่โดดเดี่ยว เป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูล แบ่งปัน


สำหรับการชวนผู้คนที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่เคยทานดอกดาหลาเลย แล้วหยิบดอกดาหลาเข้าครัวทำเมนูอาหารนั้น กฤช เหลือลมัย  นักปรุงอาหารผ่านเตาไฟและตัวหนังสือ ได้ชวนให้นึกถึงดอกดาหลาว่า เหมือนกับวัตถุดิบที่เราไปทำอาหารไหนบ้าง ให้ลองเด็ดดาหลามาดม ลองชิม 


เมื่อดูองค์ประกอบข้างในดอกดาหลา ก็พบว่า ลอกดอกดาหลาออกมาจะเหมือนหัวปลี กลิ่นเหมือนตระไคร้ เปรี้ยวๆ นอกจากการนำดาหลาซอยๆ ใส่ข้าวยำ หรือนำไปทำแกงเหลืองแล้ว ดาหลาจะอยู่ที่ไหนได้อีกบ้าง  เขาคิดนอกกรอบ  คิดเมนูที่มีส่วนประกอบดาหลาในเมนูอาหาร  


ต้มข่าหัวปลี เอาหัวปลีออก นำดอกดาหลาใส่แทนไป พอต้มนานๆ พบว่า ไม่เละ มีกลิ่นเปรี้ยวหอมอ่อนๆ 


น้ำพริกกะปิ หรือน้ำพริกตระไคร้ เอาตระไคร้ออกนำดาหลามาซอยๆ ตำใส่แทน เหมือนน้ำพริกตระไคร้ที่มีความหอมของดาหลา ยิ่งเอาไปผัดน้ำมัน จะดึงกลิ่นดาหลาออกมา 

ยำตระไคร้หมูย่าง 


หมี่กรอบ ใช้ดาหลาแทนส้มซ่า จะได้หมี่กรอบอีกสูตร 


ขนมจีนน้ำพริก ความหวานของน้ำพริกจะถูกตัดด้วยความหอมของดอกดาหลา 


 “ผมลองทำ ดาหลาอร่อย มีทั้งความหอม ฉุน ซ่า กลิ่นละมุนละมัย ไม่เละ คงรูปอยู่ได้”  นี่คือสิ่งที่  นักปรุงอาหารผ่านเตาไฟและตัวหนังสือ ได้ทำลองทำเมนูจากดอกดาหลา


สุดท้าย เชฟป๊อป - พิชชากร แห่งร้าน ADHOC BKK ที่คิดเมนู พล่าคอหมูย่างดอกดาหลา แกงเหลืองดอกดาหลา ปลาดุกนา มาโชว์ในงาน ‘มหัศจรรย์ดาหลา’ ป่าอาหารสำหรับเมือง’ บอกว่า ประสบการณ์การทำอาหาร เคยใช้ดาหลามาเป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารหลายครั้ง แต่หากเป็นรูปแบบการโขกผสมในน้ำพริกเลย หรือผสมในแกงนั้น ยังไม่เคยปกติจะเสริฟ์สด เป็นผักทานกับน้ำพริก ไอเดียที่ได้จากงานนี้ คือ หากที่ร้านเสริฟ์อาหารเป็นคอร์ส ดอกดาหลาจะมาคั่น พวก Sherbet เพื่อเริ่มต้นเข้าเมนคอร์สใหม่ 


“ส่วนตัวชอบดอกดาหลามากๆ ทั้งกลิ่น รส หน้าตา เป็นอีก category ของมะนาว และข่า ซึ่งที่ผ่านมาพยายามนำเสนอ ชาดอกดาหลา ก็พบว่า คนรุ่นใหม่บางคนไม่เคยทาน แอบตกใจ ไม่เคยรู้จักดอกดาหลามาก่อน เราเองก็ตกใจว่าทำไมเขาตกใจ ขณะที่ฝรั่งแทบไม่เคยตกใจอะไรเลย เพราะเขามาเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่” เชฟป๊อป – พิชชากร ให้มุมมอง พร้อมกับชื่อว่า การรังสรรค์เมนูที่มีวัตถุดิบจากดอกดาหลา อันดับแรก เชฟต้องชอบในวัตถุดิบนั้นก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง