รีเซต

"วัคซีนโควิด-19" ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

"วัคซีนโควิด-19" ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก
TrueID
18 มีนาคม 2564 ( 16:18 )
379
1

ขณะที่ทั่วโลกยังคงเดินหน้าผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ประเทศไทยก็มีทีมนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย และสามารถผลิตใช้กับคนไทยเองได้อีกด้วย

 

 

คืบหน้าวัคซีนชนิดเชื้อตาย

วันนี้(วันที่ 22 มีนาคม 2564) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไลปลัด อว ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. และศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ที่วิจัยโดยคนไทยและเริ่มวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 พร้อมให้กำลังใจอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในการวิจัย 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขึ้นเองภายในประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงและพึ่งพาตนเอง ซึ่งอภ.ได้ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล เริ่มศึกษาวิจัยวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยการศึกษาวิจัยจะฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร รวม 460 คน และจะศึกษาวิจัยในมนุษย์ให้มีผลครบถ้วน เพื่อนำข้อมูลไปยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลิตในระดับอุตสาหกรรม ที่โรงงานผลิตวัคซีนของ อภ. ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยไข่ไก่ฟักที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับมาใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที คาดว่าภายในปี 2565 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ โดยผลิตได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี


สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ในอาสาสมัครครั้งนี้เป็นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 โดยเริ่มทดลองกลุ่มแรก 18 คน และในวันที่21 มีนาคม 2564 ได้ฉีดในอาสาสมัคร 4 คน แบ่งเป็น ช่วงเช้า 2 คน และช่วงบ่าย 2 คน ตามขั้นตอนการฉีดวัคซีน ซึ่งการทำวิจัยวัคซีนต้องมีทั้ง 3 ระยะ หากสำเร็จในระยะ 1 และระยะ 2 ได้ผลดีแล้ว จะวิจัยในระยะที่ 3 ซึ่งต้องใช้ประชากรอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการวิจัยในต่างประเทศด้วย ดังนั้น จะต้องรอกระบวนการทั้งหมด แต่คาดว่าภายในปี 2565 จะต้องมีผลออกมา

 

ทั้งนี้อีกไม่กี่เดือน อภ.คงเริ่มผลิตได้วัคซีนนี้ออกมาและมีราคาถูกกว่าการใช้วัคซีนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ใกล้ถึงขั้นทดลองในคนอีก 2 ตัว คือ วัคซีนของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนิด mRNA และ วัคซีนจากใบยาสูบอีกด้วย


แต่รู้หรือไม่ว่าวัคซีนโควิด-19 มีกี่ประเภทและแตกต่างกันอย่างไร? วันนี้ True ID จะพามารู้จักประเภทของวัคซีนโควิด-19 เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกัน

 


ประเภทวัคซีนโควิด-19

 

1.mRNA Vaccine

คือ วัคซีนที่ใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อไวรัสมาฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

 


2.VLP (Virus Like Particle)

คือ วัคซีนอนุภาคคล้ายไวรัส

 


3.Protein-nanoparticle Vaccine

คือ วัคซีนที่ใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสร่วมกับส่วนอื่นๆ ฉีดกระตุ้นเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

 


4.DNA Vaccine

คือ วัคซีนที่ออกแบบชิ้นส่วน DNA ด้วยวิธีสอดแทรกยีนที่สร้างแอนติเจนเข้าไป และใช้วิธีฉีดทางกล้ามเนื้อ หรือผิวหนัง เพื่อให้แสดงออกเป็นโปรตีนแอนติเจนที่ต้องการได้

 


5.Inactivated Vaccine

คือ วัคซีนที่ทำให้เชื้อไม่สามารถก่อโรคได้ ด้วยสารเคมี หรือแสง UV

 


6.Viral-Vector Vaccine

คือ วัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสที่ทำให้เชื้ออ่อนลง ไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่รหัสพันธุกรรม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

 


การเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่นิยมใช้วัคซีนประเภท mRNA มากที่สุด รองลงมาคือ Inactivated Vaccine โดยวัคซีนแต่ละประเภทที่ได้รับคัดเลือกจะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานความปลอดภัยก่อนจะเริ่มฉีดให้แก่ประชาชน

 


วัคซีนโควิด-19 ความหวังคนไทย

 

นอกจากวัคซีนที่ประเทศไทยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท แอสตราเซเนกาแล้ว ยังมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย จากทีมนักวิจัยต่างๆ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และภาคมหาวิทยาลัย ดังนี้

 


1.วัคซีนประเภท mRNA

พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

อยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1

 


2.วัคซีนประเภท DNA

พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์ โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย

 


3.วัคซีนที่ใช้เทคนิคการผลิตโปรตีนจากใบยาสูบ

พัฒนาโดยบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ในความดูแลของ CU Enterprise เริ่มทดสอบในอาสาสมัครช่วงกลางปี 2564 

 


4. วัคซีนประเภทเชื้อตาย (Inactivated)

พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และระยะที่ 2

 


5. วัคซีนประเภทอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP)

พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

 


6. วัคซีนประเภทใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector)

พัฒนาโดยสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

 


7. วัคซีนประเภทเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated)

พัฒนาโดย สวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลองเช่นเดียวกัน

 


นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่ทีมนักวิจัยจะพัฒนาการผลิตวัคซีนใช้ในปี 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้ประเทศเกิดความพร้อมในการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ แม้การระบาดยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกก็ตาม

 


ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ คือการดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดที่เราสามารถสร้างขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรอใคร

 

 

 

ข้อมูลจาก : ประชุมวิชาการออนไลน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , กระทรวงสาธารณสุข

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง